ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจพี่เลี้ยงกองทุน (Coaching) ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หนึ่งคือการเสริมศักยภาพทีมพี่เลี้ยงกองทุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทุกระดับ เพื่อการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ

หนึ่งในนั้นคือการอภิปราย ต้นแบบการดำเนินงานระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) โดยมีตัวอย่างจาก 2 พื้นที่คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และ กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

เริ่มจากภาพสถานการณ์พื้นที่ทางตอนใต้ โดย ธีรนันต์ ปราบราย ปลัดเทศบาลตำบลนาชะอัง เล่าว่า ภายในระยะเวลาราว 10 ปี พื้นที่แห่งนี้กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นเองได้ตระหนักในเรื่องนี้ และมีการเตรียมความพร้อมตั้งรับโดยมีระเบียบและประกาศที่ใช้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2559

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการประกาศให้เรื่องของผู้สูงอายุเป็นวาระของตำบล พร้อมการมีกติการ่วมกันเพื่อดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภาคอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาร่วมสร้างสังคมแห่งการดูแล

ธีรนันต์ ระบุว่า LTC เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการดูแล โดยการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในสังคมไม่ให้ไปติดบ้านติดเตียง ส่วนผู้สูงอายุที่ติดบ้านก็จะดึงกลับเข้ามาอยู่ในสังคม เข้าชมรม ขณะที่ผู้สูงอายุที่ติดเตียงก็จะดูแลช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ให้มีความสุขที่สุด ซึ่งแนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุของตำบล คือการสร้างความเสมอภาคในสังคม การสร้างสังคมที่น่าอยู่โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นจึงมีการดูแลที่มากกว่าภารกิจ

“ผู้สูงอายุเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า ช่วยสร้างชาติบ้านเมืองขึ้นมา การดูแลในวาระสุดท้ายจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าทั้งในเรื่องสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ Care Manager หรือ Caregiver ทำนอกจากงานปกติ คือการให้สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ เขาอยากจะทำบุญก็นิมนต์พระมาให้ อยากจะดูหนังตะลุงก็พามาแสดง เป็นต้น เป็นความรักความห่วงใยในการดูแล ให้เขาเห็นว่าเขายังมีความสำคัญ” ปลัดเทศบาลรายนี้ ระบุ

ขณะที่ น.ส.สุนันทา ช่วยนุกิจผู้ ในฐานะ Caregiver ให้ข้อมูลว่า ในการประชุมมอบหมายงานนั้นมีการวางแผนงาน หรือ Care Plan ไว้ แต่ในการดูแลจริงก็อาจไม่ได้ทำตามแผนหรือตามวิชาการทุกอย่าง เพราะต้องมีการปรับไปตามบริบทของแต่ละครอบครัวด้วย ซึ่งบริบทในสังคมชนบทนั้นมีความใกล้ชิดกันเหมือนญาติพี่น้อง อสม.ส่วนใหญ่ที่ทำงานนี้จึงมีความเข้าใจพื้นฐาน เพราะมีความใกล้ชิด ผูกพัน รู้ประวัติหรือสภาพของแต่ละบ้าน จึงเป็นส่วนเสริมที่ช่วยดูแลด้านสภาพจิตใจ สามารถดูแลผู้สูงอายุแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม

“คนเราเมื่อเจ็บป่วยจิตใจก็จะแย่ด้วย แต่หากจิตใจเข้มแข็งก็พร้อมที่จะสู้กับโรคภัย ดังนั้นสภาพแวดล้อมในการดูแลยังเป็นสิ่งสำคัญ หากมีผู้ป่วยแล้วคนเฝ้าดูแลยังป่วยด้วย โอกาสที่เขาจะฟื้นฟูได้ก็ยาก ยิ่งถ้าผู้ดูแลมีภาวะเครียด ซึมเศร้าต่าง ๆ ผู้ป่วยยิ่งแทบไม่มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาปกต” Caregiver รายนี้ระบุ

วรรณดี อุ๋ยประสิทธิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชะอัง ในฐานะ Care Manager เสริมว่า ด้วยข้อกำหนดใหม่ที่งาน LTC สามารถทำได้ทุกช่วงวัยนับเป็นสิ่งที่น่าดีใจ เพราะช่วยทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ที่ประสบกับภาวะพึ่งพิงแต่อายุไม่ถึง 60 ปีในบางส่วนด้วยเช่นกัน

ฟากฝั่งของตัวอย่างงานจากภาคอีสาน จีรนันท์ ธารไชย ผู้อำนวยการส่วนบริการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เล่าว่า ในพื้นที่ได้มีเตรียมความพร้อมสู่การดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง มาตั้งแต่ปี 2557 โดยนำ อสม.เข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) พร้อมกับที่ได้มีการสำรวจผู้สูงอายุ โดยแยกเป็นกลุ่มที่ติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง เป็นข้อมูลพื้นฐาน

ในปี 2559 เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้เป็นพื้นที่นำร่องจัดระบบการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยการรับสองเครื่องมือนโยบายสาธารณะมาปฏิบัติ คือ ธรรมนูญสุขภาพตำบล และกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) พร้อมเชื่อมโยงกับเงินกองทุนจาก กปท. นำมาสู่การจัดกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ การมี อผส.ต่อผู้สูงอายุ 3 คนในการให้ความรู้ดูแลตนเอง พร้อมการตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการต่าง ๆ

“เราสำเร็จจากนโยบายผู้บริหารที่มีความชัดเจน ในการดูประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นมากมายและรองรับกับทุกกลุ่ม โดยงานดูแลผู้สูงอายุก็มีการต่อยอดนวัตกรรม เกิดเป็นสายด่วน เกิดกองทุนขยะรีไซเคิลเอื้ออาทรดูแลผู้ด้อยโอกาส หรืองานบริการแก่ผู้สูงอายุที่บ้าน กลายเป็นต้นแบบที่ศึกษาดูงานให้กับแห่งอื่น ๆ” จีรนันท์ ระบุ

ด้าน พรทิพทย์ ภูสง่า พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เสริมว่า ในพื้นที่ได้ออกแบบการดูแลตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวในแต่ละเคส เพื่อให้เข้ากับแนวคิดการเข้าถึง เข้าใจ เช่น กรณีเคสที่อยู่ในเขตเมืองนั้นมักไม่ได้เปิดบ้านไว้ทั้งวัน จึงต้องวางแผนร่วมกับครอบครัวในการเข้าไปดูแลช่วงไหนอย่างไร

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังออกแบบการดูแลอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเทศบาล มีการดูด้านสภาพแวดล้อม อำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์ ปรับสภาพห้องน้ำ มีการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแล เช่น กายภาพบำบัด หรือในการดูแลระดับ Palliative Care แก่ผู้ป่วยที่บ้าน

“การทำงานทำให้ได้เห็นสัจธรรม เห็นมิติการเปลี่ยนของชีวิต และมีความสุขในการเป็นผู้ให้ ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้สิ่งที่มีในชุมชน ใช้นวัตกรรม องค์ความรู้ ดึงศักยภาพของเรามาใช้เป็นประโยชน์ในการดูแลคนไข้ ซึ่งคนไข้เองก็มีความสุขทุกครั้งและรอคอยการที่เราจะเข้าไปดูแล งาน LTC จึงช่วยยืดชีวิตคนคนหนึ่งออกไปได้อย่างดี จนกว่าที่เขาจะจากไป" พยาบาลรายนี้สะท้อนการทำงาน