ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ตั้งเป้า 3 กองทุนท้องถิ่น ทั้ง กองทุนสุขภาพตำบล กองทุนระบบการดูแลระยะยาว กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด หนุนเสริมสุขภาพประชาชน หวัง อบจ.เป็นศูนย์กลางยืมกายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนในชุมชน

นายวีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในหัวข้อ “กลไกการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.)” ภายในงานประชุมชี้แจงทำความเข้าใจพี่เลี้ยงกองทุน (Coaching) ในการบริหารจัดการ กปท. ปีงบประมาณ 2563 ตอนหนึ่งว่า กองทุน กปท. มีด้วยกันทั้งสิ้น 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งในปี 2562 ที่มีการออกประกาศกองทุนฯ ฉบับใหม่ พบว่ามียอดงบประมาณในการดำเนินงานต่อปีอยู่กว่า 4,000 ล้านบาท

ขณะที่ปีที่ผ่านมา กองทุนสุขภาพตำบลมีรายรับ 3,700 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นเงินที่ สปสช.สนับสนุน 2,600 ล้านบาท และเป็นเงินสมทบของท้องถิ่น 1,100 ล้านบาท ฉะนั้นการพูดว่า สปสช.นำเงินไปไว้กับท้องถิ่นโดยไม่ได้ใช้จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องนัก

“ถ้าเราไม่ไปจับมือกับท้องถิ่น เราก็มีเงินดูแลสุขภาพเพียง 2,600 ล้านบาท แต่พอจับมือแล้วก็มีงบประมาณเพิ่มมาอีก 1,100 ล้านบาท ทิศทางการดำเนินงานในปัจจุบันหลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับหลายฝ่ายแล้วพบว่าเป็นไปด้วยดี มีการเบิกจ่ายงบประมาณที่รับในแต่ละปีจนหมด และเริ่มมีการใช้เงินที่เป็นยอดยกมากว่าปีละ 500 ล้านบาท” นายวีระชัย กล่าว

นายวีระชัย กล่าวว่า ส่วนกองทุนที่ 2.กองทุนระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Care: LTC) มีหลักการสำคัญคือหนุนเสริมงบประมาณให้หน่วยจัดบริการไปดูแลคนไข้ที่บ้าน หรือต้องมี Care giver มาช่วยดูแลที่บ้านเพราะในความเป็นจริงคงไม่สามารถนำผู้ป่วยมาดูแลที่โรงพยาบาลได้หมด ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ ก็จะเบิกจ่ายจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาว ในขณะเดียวกันถ้าผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านต้องการกายอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ 3.คือ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูในชุมชน-บ้าน โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คอยสนับสนุน

“เราต้องการให้ อบจ.เป็นศูนย์กลางเรื่องกายอุปกรณ์ ทำให้ผู้พิการที่ไม่มีรถเข็น-รถโยกสามารถเข้าถึง และผู้พิการบางรายก็มีความต้องการที่เฉพาะ ดังนั้นในประกาศกองทุนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ที่เริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2563 จึงมีการกำหนดให้สามารถทำได้ทั้งการตัดเฉพาะ-ออกแบบกายอุปกรณ์เฉพาะได้ นับจากนี้ศูนย์ยืมกายอุปกรณ์จะเป็นเรื่องสำคัญ เช่น คนต้องการใช้ออกซิเจน หากมีเครื่องผลิตออกซิเจนให้ยืม หรือมีที่นอนลมให้ยืม ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ ตรงนี้คิดว่านายก อบจ.ช่วยได้”

นายวีระชัย กล่าวถึงกลไกการพัฒนาต่อไปว่า หากพูดในเชิงนโยบายแล้ว ทั้ง 3 กองทุนนี้คือจุดเน้นสำคัญของผู้บริหาร และถือเป็นตัวชี้วัด (KPI) ในการทำงาน ซึ่งนับจากนี้ สปสช.มียุทธศาสตร์หลักคือจะไปร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่มีกลไกการทำงานอยู่ในพื้นที และจะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบในการจัดการปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น แก้ปัญหาโรคเรื้อรัง (NCDs) การสนับสนุนศูนย์เด็ก เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน

“ในส่วนของการถอดบทเรียนและการจัดการองค์ความรู้นั้น เราจับมือกับสถาบันอาเซียนในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานว่า การบริหารทั้ง 3 กองทุนนั้น จะมีหลักการองค์ความรู้อย่างไร โดยจะมีสถาบันอาเซียนเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาร่วมกับ สปสช.” นายวีระชัย กล่าว และว่า นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล โดยเฉพาะโปรแกรมของ LTC หรือ Long Term Care ให้มีเสถียรภาพมากที่สุด พร้อมกันนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย

“เป้าหมายสุดท้ายของกองทุนท้องถิ่นทั้งหมด ก็คือต้องการให้กองทุนเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ เมื่อประชาชนตระหนักรู้แล้วเขาก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไปสู่การมีสุขภาพดี โดยมีกองทุนเหล่านี้ช่วยหนุนเสริม” นายวีระชัย กล่าว