ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ร้านยาสองเภสัช” เครือข่ายหน่วยบริการร่วม รพ.วชิระภูเก็ต ระบุ “ผู้ป่วยรับยาร้านยา” เดินหน้าจริงจังประชาชนได้ประโยชน์ ไม่เป็นภาระร้านยา ช่วยหนุนความสัมพันธ์ร้านยากับชุมชน แนะเพิ่มจุดคัดกรองผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์ พร้อมแนบบัตรเตือนคุณหมอเห็นชอบวินิจฉัยผู้ป่วยรับยาร้านยา เผย โครงการฯ จำกัดเฉพาะสิทธิบัตรทอง ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมอยากร่วมรับยาร้านยา ด้าน ผู้ป่วยตอบรับ ช่องทางรับยาสะดวก ไม่ต้องรอคิว    

ภก.เกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการร้านยาสองเภสัช กล่าวว่า สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการลดความแออัดโรงพยาบาลโดยกลไกร้านยา เนื่องจากเราเป็นร้านยาตั้งอยู่ในชุมชนและคอยให้บริการด้านยาและสุขภาพกับชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว โครงการนี้นอกจากลดความแออัดในโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล และยังได้รับคำอธิบายการบริหารยาโดยละเอียดทำให้เกิดการใช้ยาเป็นไปตามที่แพทย์สั่ง ทั้งช่วยลดภาระงานให้กับเภสัชกรห้องยาของโรงพยาบาลที่แต่ละวันมีผู้ป่วยรอรับยาจำนวนมากได้ โดยรวมจึงมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และเมื่อดูตามประกาศหลักเกณฑ์โครงการแล้ว ร้านยาเราก็สามารถเข้าร่วมได้

ทั้งนี้ร้านยาสองเภสัชเป็น 1 ใน 33 ร้านยาที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการร่วมร้านยาโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยร้านยาเราอยู่ที่ อ.กระทู้ ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 3-4 กิโลเมตร เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันมีคนไข้ของโรงพยาบาลที่ขอรับยาที่ร้านยาจำนวน 35 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 2 รายที่มารับยาที่ร้าน การที่ยังมีผู้ป่วยรับยาร้านยาจำนวนไม่มากนั้น มองว่าส่วนหนึ่งเป็นช่วงของการเริ่มต้นโครงการฯ

สำหรับในส่วนขั้นตอนผู้ป่วยที่จะมารับยาที่ร้านยาได้นั้น ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอก่อน ต้องอยู่ใน 4 กลุ่มโรคและโรคที่การรักษาไม่ซับซ้อน และหลังจากตรวจกับคุณหมอแล้วผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้เลย จากนั้นโรงพยาบาลจะจัดส่งยาของผู้ป่วยผ่านทางโลจิสติกส์ในจังหวัดมาที่ร้านยา และร้านยาจะโทรศัพท์นัดหมายให้ผู้ป่วยทราบเพื่อมารับยา ส่วนจะเป็นเวลาใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ป่วยเอง โดยร้านยาเปิดตั้งแต่ 09:00 น. จนถึงเวลา 21:00 น. จึงไม่เป็นปัญหา

“การรับยาที่ร้านยาก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคนไข้ ถ้าคนไข้หาหมอเสร็จแล้ว มีธุระก็ไปทำธุระต่อได้ ไม่ต้องมาต่อคิวรอรับยาที่ห้องยา โดยร้านยาหลังได้รับยาจากโรงพยาบาลแล้วจะโทรนัดกับผู้ป่วยให้มารับยาได้ สำหรับผู้ป่วยที่มารับยาที่ร้านตามโครงการฯ เป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง เคยรับยาที่ร้านมาแล้ว 1 ครั้ง และมาเติมยาที่ร้านยา 1 ครั้ง โดยทุกครั้งที่มาร้านยาผู้ป่วยจะมีสมุดสุขภาพประจำตัวติดมาด้วย ซึ่งร้านยาจะคอยติดตามดูอาการทุกครั้ง ทั้งวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่า BMI ซักประวัติการบริหารและกินยา ดูเรื่องยาตีกันหรือไม่ เพราะบางคนจะไปซื้อยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมกินร่วมกับยาที่แพทย์สั่งด้วย ตลอดจนอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพื่อรายงานให้แพทย์เจ้าของไข้ได้รับทราบด้วย ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่องก็จะแนะนำเพื่อให้กินยาอย่างถูกต้อง”  

ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของรูปแบบการกระจายยาจากโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้ยังเป็นการใช้โมเดลที่ 1 คือ โรงพยาบาลจัดยาและส่งมาที่ร้านยาเลย ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้เคยทำมาแล้ว ส่วนโมเดลที่ 2 และ 3 ที่ให้ร้านยาทำการสต๊อกยาและมีการจัดซื้อยาด้วยนั้น เท่าที่ทราบยังไม่สามารถทำได้เพราะติดระเบียบราชการอยู่ แต่โมเดลที่ 1 ก็เป็นรูปแบบที่สะดวกดี ไม่ยุ่งยาก ส่วนที่เกรงว่าการที่ร้านยามาทำตรงนี้จะเพิ่มภาระงานให้ร้านยาหรือไม่นั้น ผู้ป่วยที่มารับยาส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ในละแวกชุมชนอยู่แล้ว บางคนก็คุ้นกันดี โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีเพราะทำให้ร้านยาและชุมชนมีความสนิทสนมกันมากขึ้น

 ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีไม่มากนั้น ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลและร้านยาต่างช่วยกันประชาสัมพันธ์ แต่การที่ผู้ป่วยจะเข้าร่วมโครงการได้นั้นจะต้องให้คุณหมอเห็นชอบก่อน ซึ่งผู้ป่วยบางคนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับยากับร้านยาใกล้บ้านได้ แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่รอคิวหน้าห้องตรวจ จำนวน 100-200 คน ทำให้บางครั้งคุณหมอที่ตรวจคนไข้ในขณะนั้นอาจลืมที่จะสอบถามเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการลดความแออัดโดยร้านยา ดังนั้นจึงควรเพิ่มจุดคัดกรองเบื้องต้นในการคัดเลือกผู้ป่วยที่สามารถรับยาที่ร้านยาได้และแจ้งเตือนให้หมอเห็นได้จากบัตรโอพีดีการ์ด เพื่อให้คุณหมอทราบและเห็นชอบให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเข้าร่วมโครงการ เพราะหากปล่อยคนไข้เดินไปถึงห้องยาแล้วที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว การเข้าร่วมโครงการก็ต้องไปนัดพบหมอครั้งต่อไป    

ต่อข้อซักถามว่า มองทิศทางของโครงการนี้อย่างไร ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า หากเดินหน้าจริงจังประชาชนก็จะได้ประโยชน์ เพราะมีหน่วยบริการร่วมร้านยาที่ร่วมอยู่ในระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ช่วยให้เวลาหาหมอของผู้ป่วยลดลง จากแต่เดิมต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปรับบัตรคิว 7 โมงเช้ารับการตรวจคัดกรองและรอตรวจ กว่าคุณหมอจะลงมาตรวจก็ 9 โมงแล้ว และกว่าผู้ป่วยจะได้ตรวจก็ 11 โมง แถมยังต้องใช้เวลารอรับยาอีก บางครั้งกว่าจะหาหมอเสร็จก็บ่าย 2 ไปแล้ว แต่ถ้าตัดในส่วนของการรอรับยาไปได้ ผู้ป่วยก็จะใช้เวลาในโรงพยาบาลลดลง และยังสามารถไปทำธุระอย่างอื่นได้ ไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตามโครงการนี้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสิทธิการรักษาอื่นที่อยากเข้าร่วมโครงการด้วย เช่น สิทธิประกันสังคม เพราะเมื่อได้พบหมอแล้วก็ไม่ต้องรอรับยาที่ห้องยา สามารถไปทำงานต่อได้เลย ไม่ต้องลางานทั้งวัน นายจ้างไม่ขาดแรงงาน ส่งผลดีต่อระบบอุตสาหกรรม  

นายกมล ตั้นพันธุ์ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการลดความแออัดโรงพยาบาลโดยร้านยา กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้โดยทางโรงพยาบาลแนะนำและเห็นว่าเป็นช่องทางในการรับยาที่สะดวก เนื่องจากในจำนวนร้านยาที่โรงพยาบาลให้เลือกมีร้านยาสองเภสัชที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านด้วย มองเป็นทางเลือกที่ดี ทำให้ไม่ต้องเสียเวลารอคิวยาวที่โรงพยาบาล บางครั้งก็นานมาก ๆ แล้วแต่ว่าวันนั้นจะมีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน การไปรับยาก็จะไปตามที่ทางร้านได้โทรนัดหมายไว้ ยาที่รับก็เป็นยาเดียวกับที่ได้จากโรงพยาบาล เรียกว่าเป็นยาตัวเดียวกัน เพราะทางโรงพยาบาลเป็นผู้จัดส่งมาให้

“ร้านยาที่ผมมารับยาเป็นร้านที่รู้จักอยู่แล้ว อยู่ใกล้บ้าน เวลามารับยาก็ไม่ยุ่งยากอะไร สะดวกดี ทางร้านยาก็บริการดี เภสัชกรก็อธิบายเกี่ยวกับการใช้ยาและผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่ต้องระวัง ที่ผ่านมาก็บอกต่อกับเพื่อนๆ ว่าเป็นวิธีรับยาที่ดี”ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการลดความแออัดโรงพยาบาลโดยร้านยา กล่าว