ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยพระสงฆ์ตื่นตัวขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ตัวเลขการรับรู้เรื่องสิทธิพุ่งพรวด แนะ สปสช.ปรับกลยุทธสื่อสารให้หลากหลายและสอดคล้องกับพระในแต่ละระดับ พร้อมมุ่งเป้าสร้างความรู้ผ่านระบบการศึกษาของสงฆ์และผลักดันยกระดับพระสงฆ์เป็นแกนนำการทำงานสุขภาพในอนาคต

การประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วันที่ 15 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการนิมนต์พระมหาประยูร โชติวโร จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาบรรยายสรุปบทเรียนการและผลการขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 2562

พระมหาประยูร กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เมื่อปลายปี 2560 ได้มีการศึกษาในเรื่องการเข้าถึงบริการ การใช้สิทธิ และการมีส่วนร่วมในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งผลการศึกษาในประเด็นการรับรู้สิทธิ พบรูปแบบ 2 ประการสำคัญคือ 1.การจัดประชุมอบรมให้ความรู้แก่ประสงฆ์กลุ่มต่างๆ ตลอดจนสร้างกลุ่มพระสงฆ์เพื่อสื่อสารในเรื่องหลักประกันสุขภาพ และ 2. การจัดทำสื่อสารสาธารณะและคู่มือการใช้สิทธิ

พระมหาประยูร กล่าวต่อไปว่า ใน 2 เรื่องนี้ มีข้อสังเกตว่าการให้ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพแก่พระสงฆ์ไม่ได้แยกเนื้อหาที่จะสื่อสารตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น ระดับเจ้าคณะปกครองกับพระทั่วไปมีเนื้อหาการสื่อสารแบบเดียวกัน ทำให้บางพื้นที่เจ้าคณะปกครองไม่ให้ความสนใจ ดังนั้นควรมีการวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์ในแต่ละกลุ่มให้มากขึ้น เช่น กลุ่มเจ้าคณะปกครองควรเน้นภาพใหญ่ประเด็นเรื่องสวัสดิการของพระสงฆ์ใต้การปกครองของท่านและควรเน้นไปที่โรคค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่พระสงฆ์ทั่วไปควรเน้นขั้นตอนการเพื่อตรวจสอบสิทธิ การย้ายสิทธิ การเข้าใช้สิทธิและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนผลกระทบของการไม่ย้ายสิทธิให้เป็นปัจจุบัน เป็นต้น ส่วนเรื่องการจัดทำคู่มือถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชย สปสช.อย่างมากเพราะมีการจัดทำคู่มือที่มีลักษณะสอดคล้องกับความสนใจของพระ

ในส่วนของเรื่องการเข้าถึงบริการ พระมหาประยูร กล่าวว่า พบ 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.ในระดับชาติ มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มีการทำลงนามบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานพระพุทธศาสนา 2.กลไกระดับพื้นที่มีการดำเนินงาน 2 แนวทางคือ หน่วยบริการสำรวจและจัดให้มีการสำรวจและลงทะเบียนหน่วยบริการประจำแก่พระสงฆ์ และการใช้กลไกสงฆ์โดยเจ้าคณะปกครองสำรวจและประสานหน่วยบริการเพื่อลงทะเบียนพระสงฆ์และการส่งเสริมให้พระสงฆ์ทั่วไปสำรวจสิทธิของตนเพื่อให้เข้าใช้บริการสุขภาพได้เมื่อมีความจำเป็น

"สำหรับข้อเสนอในประเด็นการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงบริการในกลุ่มพระสงฆ์นี้ คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากหากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มภิกษุ สามเณรที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เรามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ มีครูพระ 18,000 รูป มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนี้น่าจะขยายผลเรื่องนี้ได้มากขึ้น" พระมหาประยูร กล่าว

ในส่วนของประเด็นการเข้าใช้สิทธิ พระมหาประยูร กล่าวว่าจากการศึกษาพบว่ามี 2 รูปแบบสำคัญคือ 1.สปสช.บางเขต เช่น เขต 8 มีความร่วมมือกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อให้พระสงฆ์เข้ารับบริการนอกหน่วยบริการที่ลงทะเบียนได้ 2.มีรูปแบบการบริการที่บูรณาการร่วมกับกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่ เช่น การจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่แก่พระสงฆ์ในวัด ซึ่งเรื่องนี้พระสงฆ์ท่านอนุโมทนาอย่างมาก

ขณะที่ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในการจัดการสุขภาพนั้น พบว่ามีพระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมใน 4 รูปแบบคือ 1.พระสงฆ์ร่วมเป็นกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 2.พระสงฆ์เป็นผู้เข้าทำโครงการกับกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 3.องค์กรในชุมชนร่วมกับพระสงฆ์ในการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล และ 4.คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งบางแห่งสามารถผลักดันข้อเสนอในการพัฒนาสุขภาพผ่านกองทุนสุขภาพตำบลได้ทุกตำบลในพื้นที่อำเภอนั้นๆเลยทีเดียว และการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตวิถีพุทธ เพื่อลดภาวะซึมเศร้า โรคเครียดและการฆ่าตัวตาย ทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก

พระมหาประยูร ยังยกตัวอย่างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ เช่น การสำรวจความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิของพระสงฆ์ในปี 2561 มีพระสงฆ์ที่ทราบว่ามีระบบหลักประกันสุขภาพ 33.3% แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 62.5% หรือความเข้าใจว่าผู้รับบริการมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการปีละ 4 ครั้ง ในปี 2561 มีพระสงฆ์ที่รู้ข้อมูลนี้ 19% แต่ปี 2562 เพิ่มเป็น 86.25% หรือการรับรู้เรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ในปี 2561 มีพระสงฆ์ที่ทราบว่ามีเพียง 7.3% แต่ในปี 2562 เพิ่มเป็น 37.5%

"โดยสรุปแล้วคือการดำเนินการในเรื่องนี้ไปได้ไกลมาก" พระมหาประยูร กล่าว

ในส่วนของการวิเคราะห์ปัจจัยหนุนเสริม อุปสรรคและโอกาสในการพัฒนานั้น พระมหาประยูร กล่าวว่า พระสงฆ์มีกำแพงวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงมาก แต่ขอชื่นชมเขต 8 ที่ฉลาดในการสื่อสาร เพราะสื่อสารผ่านไปทางเจ้าคณะจังหวัดแล้วเกิดการขับเคลื่อนอย่างมากในพื้นที่ ดังนั้นเป็นตัวอย่างว่าการสื่อสารกับพระสงฆ์กลุ่มต่างๆจึงควรมีกลยุทธที่ต่างกันไป

ขณะที่โอกาสในการพัฒนางานด้านสุขภาพของพระสงฆ์นั้น สิ่งสำคัญคือเริ่มจากการรับรู้เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มองว่าพระมีต้นทุนทางสังคม ก็สามารถยกระดับมาเป็นแกนนำในการทำงานสุขภาพได้ เช่น ผลักดันให้เกิดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การเทศน์เรื่องสุขภาวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ อาจจะเทศน์ตลอดทั้งพรรษา เป็นต้น

"ปัจจุบันกล่าวได้ว่าพระสงฆ์ขานรับนโยบายและตื่นตัวในการขับเคลื่อนงานอย่างมาก และหากดำเนินการผ่านระบบการศึกษาของสงฆ์ เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งมีใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ ก็จะยิ่งเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับพระสงฆ์ได้โดยตรง" พระมหาประยูร กล่าว