ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกร่วมสนับสนุนการประชุมระดับสูงว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวันที่ 23 กันยายน 2562 นี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2019  ที่ผ่านมา เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของ ดร.ทีโดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุนการประชุมระดับสูงว่าด้วยเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 นี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74

ข้าพเจ้าเพิ่งกลับจากการไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ร่วมกับ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres)  เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อทบทวนกระบวนการรับมือในการระบาดของโรคอีโบลา และนั่นคือสิ่งที่ตอกย้ำให้ข้าพเจ้าตระหนักอีกครั้งว่า อีโบลาเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่ฝังรากลึกจนยากแก้ไข เมื่อผู้คนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการบริการที่ไร้ซึ่งคุณภาพ หรือการที่บริการสุขภาพเหล่านั้นไม่ตรงกับความจำเป็นหรือความต้องการของคนในพื้นที่ แน่นอนว่าเชื้อโรคย่อมสามารถระบาดไปทั่ว ในขณะที่หลายชีวิตต้องดับสูญไป  

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้การประชุมระดับสูงด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ที่จะจัดขึ้น สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในวันที่ 23 กันยายน 2019 นั้นมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ผู้นำจากทั่วโลกจะได้แน่ใจและมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกปฏิเสธการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นเพียงเพราะพวกเขาไม่อาจเข้าถึงหรือไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้

เมื่อปี ค.ศ. 2015 ผู้นำระดับโลกต่างให้คำมั่นที่จะบรรลุถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อนำไปสู่การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกจะเผยแพร่ “รายงานการตรวจสอบทั่วโลกด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ฉบับล่าสุด ซึ่งจะแสดงให้ทุกท่านได้เห็นว่าเรายังคงอยู่นอกเส้นทางและยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการบรรลุอีกมาก เนื่องด้วยผู้คนอีกเป็นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้ และบางส่วนก็ถูกผลักดันเข้าสู่วังวนแห่งความยากจนข้นแค้นอย่างที่สุดเพราะต้องหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ในเดือนกันยายนนี้ ทุกประเทศจะลงนามในปฏิญญาด้านสาธารณสุขที่มีความครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นตามพันธะสัญญาที่ผู้นำของแต่ละประเทศได้ลงนามไว้ในปฏิญญาแห่งอัสตานาในการประชุมระดับโลกด้านการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่จัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2018  ซึ่งทุกประเทศที่ลงนามจะต้องมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศ เพื่อเป็นการวางรากฐานอันจะนำไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และยิ่งไปกว่านั้น  แต่ละประเทศจะต้องให้คำมั่นในการลงทุนใน 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ การสร้างกลไกทางการเงินที่แข็งแกร่ง   สร้างระบบการให้บริการสาธารณสุขที่มีผลกระทบสูง (High Impact) สร้างบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ระบบกำกับดูแลรวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Institutional Capacity)

การประชุมระดับสูงในครั้งนี้ ข้อคิดเห็นของข้าพเจ้าจะถูกประกาศออกไปอย่างชัดเจนว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ทางเลือกหนึ่งในการวางนโยบายทางการเมือง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศทุกคนเลือกและร่วมกันสร้างทางเลือกนี้ขึ้นมา เริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมประชุมระดับสูงในครั้งนี้และร่วมกันทำงานเพื่อให้การประชุมดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ทุกท่านสามารถร่วมสนับสนุน #HealthForAll ได้โดยลงชื่อในคำร้องนี้ who.int/health.

นอกจากนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังถือเป็นตัวเลือกอันชาญฉลาดทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย การที่ประเทศได้ลงทุนไปกับงานด้านสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานอันจะช่วยเพิ่มผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เพราะเมื่อผู้คนมีสุขภาพที่ดี พวกเขาก็สามารถเรียนรู้ หาเลี้ยงชีพ ทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จนก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทั้งแก่ระบบธุรกิจ  ระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้อย่างมากมาย

องค์การอนามัยโลกมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้แต่ละประเทศก้าวไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามบริบทของตัวเอง โดยองค์การอนามัยโลกจะให้การสนับสนุนเชิงกลยุทธ์และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ทั้งนี้เชื่อว่าความพยายามทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนให้เกิดความคิดริเริ่มได้เช่นเดียวกันกับเป้าหมายในการบรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ.2030 ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งขึ้น และการเข้าเป็นแนวร่วมหรือพันธมิตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้เกิดทรัพยากรข้อมูลระดับประเทศที่ช่วยเพิ่มความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค เสริมสร้างสมรรถนะความสามารถในการดำเนินงาน และสนับสนุนการหารือหรือแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) 

การสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ มุ่งหน้าไปบนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่ใช่หน้าที่ขององค์การอนามัยโลกแต่เพียงองค์กรเดียว   นอกเหนือจาก รายงานการตรวจสอบทั่วโลกด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ในวันที่ 24 กันยายนนี้ องค์การอนามัยโลกร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีก 11 แห่ง จะเผยแพร่แผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อชีวิตที่แข็งแรงและการมีสุขภาวะที่ดีถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นการสรุปแนวทางที่เราจะทำงานร่วมกันเพื่อสานต่อไปยังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสาธารณสุข โดยจะมีการวางลำดับงาน วางแผนเร่งขับเคลื่อนและเตรียมพร้อมเพื่อรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะตามมา

การประชุมภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติ จะจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายนนี้พร้อมๆกับ การประชุมระดับสูงว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้ง 2 งานจะผูกรวมพันธะสัญญาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ 2 ประการ อันดับแรก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ และสองเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในแผนปฏิบัติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ งานด้านสาธารณสุข และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น

สรุปรวมข้อมูลทั้งหมดด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ  นันคือ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 นี้ ผู้คนจากทั่วโลกจะร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่การมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้พบทุกท่านที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และหากคุณอยู่ในนิวยอร์คในวันที่ 22 กันยายนนี้ โปรดมาเข้าร่วมงาน Walk the Talk เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในรูปแบบของการเดิน  วิ่ง หรือเดินเล่น ผ่านเซ็นทรัลพาร์ค ลงทะเบียนที่นี่: http://who.int/walk-the-talk-newyork

WHO Director-General calls on world leaders to support Universal Health Coverage high-level meeting