ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ดูควาพร้อม “ยกระดับ “30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ด้าน สสจ.เพชรบูรณ์ ประกาศพร้อมเดินหน้า ชี้เป็น Digital Transformation ยกระดับระบบสุขภาพอย่างแท้จริง


นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ และ ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลก ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์ เดินทางลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เฟส 2 ให้กับหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ ใน จ.เพชรบูรณ์ พร้อมดูการจัดเตรียมความพร้อมของร้านยาและคลินิกทันตกรรมเอกชนที่จะเข้าร่วมในครั้งนี้

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ในครั้งนี้ ต่างจากของเดิมเพียง 2 ประการ คือ 1.มีหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 ประเภท และ 2.การไปรักษาที่ไหนก็ได้เป็นการไปพร้อมกับข้อมูลผู้ป่วย ต่างจาก OP Anywhere ที่ผู้ป่วยไปแต่ตัว แต่ข้อมูลไม่ได้ไปด้วย ซึ่งเชื่อว่าด้วยศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขสามารถทำได้ และขณะนี้ก็มีการเตรียมความพร้อมได้ดีเป็นอย่างมาก

1

ขณะเดียวกันการที่มีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่เข้าร่วมให้บริการ จากการพูดคุยทราบว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาร่วมให้บริการด้วยใจ ด้วยศักดิ์ศรีวิชาชีพ ทำเพื่อประชาชนมากกว่าเรื่องเงิน การขยายจำนวนของหน่วยบริการนวัตกรรมประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ทำหน่วยบริการให้เข้าใจว่า โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น ลดการรอคิว ให้รู้สึกว่าทำด้วยใจในฐานะที่เป็นวิชาชีพ และมีรายรับที่พออยู่ได้ ขณะที่ สปสช. จะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้หน่วยบริการมีภาระน้อยงานที่สุด เช่น คลินิกมีโปรแกรมบันทึกข้อมูลคนไข้อยู่แล้ว หากสามารถเชื่อมต่อระบบเบิกจ่ายของ สปสช. แล้วเบิกเงินได้เลย ไม่ต้องมาบันทึกข้อมูลอีกรอบ เป็นต้น

นพ.วิชาญ กล่าวว่า ความพร้อมของ จ.เพชรบูรณ์ในนโยบายบัตรประชาชนรักษาทุกที่ ตอนนี้มีความพร้อมมากกว่า 80% แล้ว สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว คือ 1.ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่ามีเพื่ออะไร เราไม่ได้ส่งเสริมให้ไปรักษาทุกที่ สิ่งที่ดีที่สุดคือรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ แต่หลักการคือเมื่อไหร่ที่เจ็บป่วยและจำเป็นก็ไปรับบริการในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ได้ เป็นการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยมีสิ่งสำคัญคือฐานข้อมูลที่สามารถดึงข้อมูลจากคลาวด์และรักษาต่อเนื่องได้โดยที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และ 2.การเชื่อมต่อฐานข้อมูล รวมทั้งระบบยืนยันตัวตน ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อ 2 เดือนก่อนมีประชาชนลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม DID ไม่ถึง 2% แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 40% แล้วและจะเพิ่มขึ้นอีกในเร็วๆนี้ 

"เชื่อว่าถ้าทำสำเร็จจะไม่ใช่แค่รักษาได้ทุกที่ แต่เป็นการยกระดับระบบสาธารณสุข เป็น Digital Transformation อย่างแท้จริง สร้างความมั่นใจว่าไม่ว่าจะเจ็บป่วยที่ไหนในประเทศไทย เราจะมียาและการรักษาที่ทันท่วงที ส่วนวันนี้ สปสช. เชิญผู้ประกอบการเอกชนมาดูว่าการจะเข้าสู่โครงการนี้จะต้องทำอย่างไรและได้ประโยชน์อะไร  แต่สิ่งที่จังหวัดทำแล้วคือการพูดคุยกับแพทย์ในโรงพยาบาลที่เปิดคลินิกส่วนตัวด้วยกัน เพื่อเชิญชวนให้ร่วมโครงการ เราไม่ได้คาดหวังว่าประชาชนจะไปรับบริการที่คลินิกทั้งหมด แต่เป็นการเปิดหน้าต่างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่เชื่อว่าหลักๆแล้ว ผู้ป่วย 90% ก็ยังคงมารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐ" สสจ.เพชรบูรณ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทันตแพทยสภาได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่เฟส 1 ในเรื่องของการอบรมทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ ส่วนเฟส 2 จากที่มีบทเรียนเฟส 1 มาแล้ว ก็จะมีการปรับปรุงกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น เรื่อง sequence ในการทำงาน ในเฟสแรกพบว่าทันตแพทย์ยังเอาหัตถการที่ควรทำทีหลังมาทำก่อน อาทิ การเคลือบฟลูออไรด์ทำง่าย ทันตแพทย์เห็นว่ามีเวลาไม่มากก็อาจทำเรื่องนี้ก่อน ทางทันตแพทยสภาก็จะเน้นย้ำว่าต้องแก้ปัญหาที่เสี่ยงกับฟันผุก่อนแล้วมาเคลือบฟลูออไรด์เป็นลำดับสุดท้าย เป็นต้น ดังนั้นในเฟส 2 นี้ การดำเนินงานก็จะราบลื่นมากขึ้น ทั้งด้านมาตรฐานการให้บริการ ต้องตรวจและวางแผนการรักษาก่อน จากนั้นถึงเป็นรักษา และจบที่การป้องกันโรค

2

ขณะที่ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายนี้หลักๆ คือลดความแออัดให้ประชาชนเข้าถึงบริการ บทบาทของคลินิกเทคนิคการแพทย์คือการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัย ซึ่งการที่คนไข้จะมาเจาะเลือดที่คลินิกแล้วเอาผลไปโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีอีกนวัตกรรมคือการเจาะเลือดที่บ้านแก่ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ โดยก่อนหน้านี้สภาฯ ได้ร่วมมือกับ สปสช. ทำโครงการ Lab Anywhere มีคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมประมาณ 40 แห่ง จากนั้นในโครงการบัตรประชาชนใบเดียวซึ่งนำร่องใน 4 จังหวัดแรก ก็มีเพิ่มเข้ามาอีก 20 แห่ง และการขยายผลในเฟสที่ 2 ที่ สปสช. อยู่ระหว่างการ Road Show ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการไม่มั่นใจคือเรื่องการจ่ายเงิน แต่จากเฟสแรก สปสช. ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าจ่ายได้จริงภายใน 3 วัน เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคลินิกที่สนใจสมัครเข้ามาเรื่อยๆ 

ทพญ.ธีรดา เอกสมทราเมษฐ์ ผู้ประกอบการคลินิกทันตกรรมดีดีซี ที่เข้าร่วมนโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ กล่าวว่า ส่วนตัวสนใจโครงการนี้มากๆ เพราะปกติที่คลินิกจะมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการอยู่แล้ว แต่ painpoint ของผู้ป่วยคือไม่ค่อยมีเงิน แต่พอไปโรงพยาบาลก็ต้องรอคิวนานจนรอไม่ไหวเลยมาที่คลินิก ดังนั้นจึงอยากเข้าโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน แทนที่จะไปโรงพยาบาลที่อาจจะคิวนานหรือไม่สะดวกในเวลาราชการก็สามารถมารับบริการที่คลินิกได้ โดยการเตรียมตัวรองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ขณะนี้ได้ทำการปรับปรุงการขยายพื้นที่คลินิกและเตรียมระบบการนัดหมายรองรับจำนวนผู้รับบริการที่มากขึ้น

ด้าน ภญ.พจนาลัย อนุสรณ์พาณิชกุล จากร้านยาเรือนเภสัช อีกหนึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางสภาเภสัชกรรมที่ให้การสนับสนุนร้านยาเป็นอย่างดี ทั้งการให้ความรู้ แนวทางการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ฯลฯ ทำให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าร้านยาจะสามารถดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างราบลื่น และต้องขอบคุณ สปสช. ที่ให้โอกาสเข้ามาร่วมเพื่อทำงานเพื่อชุมชน รู้สึกดีใจที่ตอนนี้จะเป็นเวลาของการเริ่มบทบาทเภสัชกรชุมชนและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริงๆ

3

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ