ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลปัตตานี เปิด ‘ศูนย์ชีวาภิบาล’ บูรณาการ 3 กลุ่มงานร่วมดูแลผู้ป่วยสูงวัย-พึ่งพิง-ระยะท้ายอย่างเป็นระบบ พร้อมผูกเข้าระบบ Home Health Care เชื่อมต่อดูแลผู้ป่วยสามจังหวัดชายแดนใต้ 


พญ.ชเนตตา หัตถา ประธานศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยกับ The Coverage ว่า ศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลปัตตานี เป็นศูนย์ที่บูรณาการงานจาก 3 ส่วนของโรงพยาบาลปัตตานีที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มงานดูแลฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ กลุ่มงานการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (Long Term Care) และกลุ่มงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในผู้ป่วยระยะท้าย โดยบูรณาการทำงานเข้าด้วยกันทั้งหมด เพื่อให้การทำงานด้านดูแลสุขภาพของผู้ป่วยระยะท้าย และระยะพึ่งพิงใน จ.ปัตตานี มีประสิทธิภาพ และไม่ให้ผู้ป่วยระยะท้ายในพื้นที่ต้องตกหล่นและขาดการดูแล

1

นอกจากนี้ ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี ยังรับเคสผู้ป่วยจากกลุ่มงานอื่นๆ เช่น กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ กลุ่มงานอายุรกรรม ทั้งในส่วนผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ซึ่งเมื่อแพทย์เจ้าของไข้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องหลังได้รับการรักษา ก็จะส่งตัวผู้ป่วยมาที่ศูนย์ชีวาภิบาล เพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ถูกประเมินว่าต้องได้รับการดูแลระยะยาว และผู้ป่วยประคับประคองที่เลือกรับการดูแลต่อที่บ้าน ศูนย์ชีวาภิบาลก็จะประสานจัดการปรับปรุงพื้นที่ จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น และร่วมวางแผนการดูแล

“ศูนย์ชีวาภิบาล เปรียบเสมือนร่มใหญ่ของการดูแลแบบประคับประคอง และการดูแลผู้ป่วยระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพราะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงานก็ทำให้ขาดการเชื่อมต่อ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีการตกหล่นไม่ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ แต่เมื่อมีศูนย์ชีวาภิบาลขึ้นมา ก็ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยระยะยาว รวมถึงผู้ป่วยประคับประคองในระยะท้ายและครอบครัว ได้ลดความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งในส่วนผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ ระบบการดูแลที่เน้นคุณภาพชีวิตที่เราวางเอาไว้ ก็ช่วยทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรี” ประธานศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี กล่าว

พญ.ชเนตตา กล่าวอีกว่า นอกเหนือไปจากการดูแลทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยแล้ว ศูนย์ชีวาภิบาล ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ร่วมคัดกรองผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชน โดยประเมินจากค่า ADL หรือความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน หากต่ำกว่าเกณฑ์คือต่ำกว่าระดับ 11 ก็จะจัดทำข้อมูลส่งมายังศูนย์ชีวาภิบาลเพื่อวางแผนดูแลต่อไป

1

ขณะเดียวกัน ในส่วนผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง หากเลือกไปรักษาต่อที่บ้าน ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจสภาพแวดล้อม โดยมีกำลังจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกระดับ ซึ่งมีงบประมาณเข้ามาหนุนเสริม โดยปรับปรุงสภาพบ้านให้เหมาะสม และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี มีรองรับ

พญ.ชเนตตา กล่าวอีกว่า หลังจากที่ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ผ่านไปประมาณ 1 เดือนเศษ มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับคำปรึกษา รวมถึงมีผู้ป่วยจากกลุ่มงานในโรงพยาบาลส่งต่อมาเพื่อปรึกษาการวางแผนการดูแลประมาณ 30-40 ราย ขณะเดียวกัน ศูนย์ชีวาภิบาลฯ ก็ยังดูแลผู้ป่วยรายเดิมที่มีอยู่ประมาณหลักร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกดูแลต่อที่บ้าน และมีทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องดูแลระยะยาวในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่มักย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางศูนย์ชีวาภิบาลฯ จึงเชื่อมข้อมูลเข้ากับระบบ Home Health Care ซึ่งเป็นระบบส่งต่อผู้ป่วยภายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สตูล ที่ส่งต่อข้อมูลร่วมกัน ซึ่งศูนย์ชีวาภิบาลฯ ได้เชื่อมข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อในกรณีที่จะต้องส่งต่อผู้ป่วยข้ามจังหวัดไปดูแลรักษาต่อ โรงพยาบาลปลายทางก็จะได้เห็นข้อมูลรวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย ทำให้มีการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง

4

พญ.ชเนตตา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนงบประมาณที่สนับสนุนการดำเนินงาน จะมีการเบิกจ่ายเป็นรายเคสอย่างปกติอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่สนับสนุนด้านงบประมาณในการให้บริการกับประชาชนก็ประสานการทำงานร่วมกับศูนย์ชีวาภิบาลฯ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะระบบการเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอยากให้มีการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเตียงที่เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เพราะต้องเป็นเตียงที่สามารถรองรับอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ โดยเฉพาะเตียงสำหรับผู้ป่วยที่เลือกดูแลที่บ้าน

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต หากมีระบบการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยผู้สูงอายุระยะท้ายได้ดี ก็จะส่งผลดีต่อผู้สูงอายุในภาพรวมทั้งประเทศ” พญ.ชเนตตา กล่าว