ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “หลักเกณฑ์จัดสรรงบขาลง กองทุนบัตรทองปี 2563” เพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมพร้อมปรับปรุงการบริหารจัดการ พัฒนาระบบ เพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงานกองทุนต่อเนื่อง ดูแลประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ปีงบประมาณ 2563 ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ซึ่งมี นางดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิในระบบบัตรทองอย่างต่อเนื่อง

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตามที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 โดยประมาณการงบประมาณที่คาดว่าจะได้รับจำนวน 190,601.71 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 173,750.40 ล้านบาท งบค่าบริการอื่นนอกงบเหมาจ่าย 7 ประเภทจำนวน 16,824.30 ล้านบาท อาทิ ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังค่าบริการเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง และค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นต้น และงบเพิ่มเติมเฉพาะกรณี ได้แก่ ค่าชดเชยวัคซีนป้องกัน หัด คางทูม และหัด เยอรมัน(MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดในภาคใต้ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท ซึ่งหลังหักเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เป็นงบประมาณสู่การบริหารโดย สปสช.จำนวน 140,769.13 ล้านบาท

คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานฯ ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ หลักการพื้นฐาน และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องรวมถึงความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่คงการบริหารเหมือนปี 2562 แต่เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่หรือปรับปรุงการจ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องกับแนวทางระดับชาติด้านสาธารณสุข แนวทางการจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ซับซ้อน การเข้าถึงยาของประชาชน รวมระบบบริหารการจ่ายชดเชยเพื่อความสะดวกรับส่งข้อมูลของหน่วยบริการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไทยและแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย

ประเด็นที่เปลี่ยนแปลงในปีงบประมาณ 2563 ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวกรณีงบผู้ป่วยนอก ได้แก่ เพิ่มบริการตรวจคัดกรองยีนส์ HLA`B*1502 เพื่อป้องกันอาการสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม จากการแพ้ยา Carbamazepine, เพิ่ม ยา จ.(2) Donepezil สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง การจ่ายบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เบื้องต้น (Fit Test) รวมไปกับเหมาจ่ายผู้ป่วยนอกทั่วไป กรณีงบผู้ป่วยใน อาทิ รวมการบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มรายการจ่ายชดเชยแบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านระหว่างปีได้ภายใต้วงเงินที่มี กระจายอำนาจให้ระดับเขตกำหนดอัตราจ่ายเงื่อนไขพิเศษระดับเขต สนับสนุนประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ พัฒนาในกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้หน่วยบริการได้รับการจ่ายชดเชยรวดเร็วขึ้น

ขณะที่งบบริการเฉพาะ ได้ปรับแนวทางจัดบริการผู้ป่วยวัณโรคใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ปี 2560-2564 ค้นหาในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูง, เริ่มบริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีธาลัสซีเมีย, พัฒนาระบบการเทียบเคียงจ่ายค่าหัตถการตามรายการสำหรับกรณีส่งต่อผู้ป่วยนอกข้ามจังหวัด, ปรับจ่ายชดเชยยาโคลพิโดเกรลจากยาเป็นเงิน แยกการจ่ายชดเชยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบวินิจฉัยการสั่งใช้ยาบัญชี จ(2) จากเดิมรวมอยู่ในรายการจัดหายา

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปี 2563 ได้ปรับเพิ่มหลายรายการ อาทิ เพิ่มวัคซีนโรต้าไวรัสเพื่อป้องกันโรคท้องร่วงในเด็กเพิ่มยาเมดาบอนป้องกันยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยนำร่องคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ปรับการจ่ายชดเชยแบบตามรายบริการในบริการตรวจและป้องกันสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มบริการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปีและเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปีเพิ่มทางเลือกคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ(HPV DNA test) และเริ่มนำร่องการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP New model) ในเขตพื้นที่ กทม.หรือเขตที่มีความพร้อมเช่นเดียวกับกรณีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ มีการปรับการจัดการให้สอดคล้องตามประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ. 2562ขณะที่บริการแพทย์แผนไทยได้ปรับให้เป็นการจ่ายตามผลงานบริการทั้งหมด

นอกจากนี้ยังปรับปรุงบริการนอกงบเหมาจ่าย ทั้งนำร่องบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) เริ่มบริการล้างไตช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการรองรับหากไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องอัตโนมัติที่ทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นและการขยายการดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนครอบคลุมทุกสิทธิและทุกกลุ่มอายุ

“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะเวลา 17 ปี ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่อง และการปรับปรุงการบริหารจัดการปี 2563 เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบที่มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมดูแลประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างครอบคลุมและทั่วถึง” รมว.สาธารณสุข กล่าว