ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และถึงแม้ว่าทุกวันนี้การให้สิทธิจะครอบคลุมประชากรกว่า 99.6% แล้วก็ตาม แต่นั่นก็ใช่ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะทำให้หยุดยั้งการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นไป

ในทางกลับกัน การพัฒนาระบบจำเป็นต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในมิติของการคุ้มครองประชาชน การเพิ่มสิทธิประโยชน์ การเงินการคลัง การบริหารและธรรมาภิบาล

“ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” คือความมุ่งหวังของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเป็นหมุดหมายสูงสุดของ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง และดำรงธรรมาภิบาล

ทั้งหมดเป็นจริงได้ หากได้รับการเอาใจใส่และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง พิสูจน์จากรูปธรรมการดำเนินงานภายใต้การนำของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่เป็นผู้ผลักดันและขับเคลื่อนแผนดังกล่าวจนเห็นผล

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี (กันยายน 2558 - ปัจจุบัน) หากร้อยเรียงสิ่ง​ที่ผู้ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้รับมาจัดเป็นหมวดหมู่ จะพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 ด้านสำคัญ

1. คุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยมีการปรับปรุง-ขยายประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขครอบคลุมบริการที่จำเป็น

อาทิ ยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นแม้ว่าจะมีราคาแพง เช่น ยามะเร็ง ยาโรคเอดส์ ผ่าข้อเข่าเสื่อม ถุงทวารเทียม บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ประกาศนโยบาย UCEP ซึ่งเป็นการต่อยอดนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ตลอดจนการให้บริการวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจคัดกรองและเพิ่มยารักษาไวรัสตับอักเสบซี สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนและยา จ 2 การบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก (8 รายการ)

มากไปกว่านั้น ยังมีบริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสำหรับกลุ่ม Allogenic กรณีผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ บริการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ในสตรีตั้งครรภ์ บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B* 1502  รวมทั้งบริการด้านพันธุกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายการลงทุนด้านจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand)

ที่สำคัญก็คือ การจัดหายากำพร้าและยาต้านพิษที่หายากหรือขาดแคลน เพราะอัตราการใช้น้อยมาก บริษัทยาไม่ผลิตและไม่นำเข้า รวมทั้งการสำรองคลังยาต้านพิษของประเทศไทย เพื่อคุ้มครองให้คนไทยได้รับยาเมื่อจำเป็น รวมทั้งยังจัดส่งยาไปช่วยเหลือประเทศอื่น เพื่อมนุษยธรรม

2. ขับเคลื่อนนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one leave behind) เริ่มตั้งแต่การค้นหากลุ่มคนไทยที่ยังไม่ทราบสิทธิหลักประกันฯ หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ตามที่จำเป็น โดยได้เพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ พระภิกษุ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ชนเผ่าทางภาคใต้ของไทย)

ขณะเดียวกัน มีนโยบายในการดูแลกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้สามารถได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และร่วมมือกับ อบต. เทศบาล และองค์การบริการส่วนจังหวัด ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

3. บริหารจัดการด้านการเงินการคลังและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเพิ่มงบประมาณทั้งภาพรวมและงบเหมาจ่ายรายหัว เฉลี่ย 4.6% ต่อปี และกำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำคงตลอดทั้งปีจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW ให้กับสถานบริการเพื่อลดความเสี่ยงขาดทุนในการรักษาผู้ป่วยใน และกันงบบางส่วนเพื่อเกลี่ยจ่ายกรณีน้ำหนักสัมพัทธ์เกินค่าเฉลี่ย

พร้อมกันนี้ ได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินการคลัง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการหาทางออกจากอุปสรรคต่างๆ เช่น การสร้างกลไกคณะทำงาน 7x7, 5x5 และกลไกหารือระดับนโยบายร่วมกัน

ด้วยวิธีจัดสรรงบกลางสนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติทางการเงินของหน่วยบริการ ทำให้หน่วยบริการที่ประสบปัญหาทางการเงินลดลงอย่างชัดเจน และยังได้สนับสนุนนโยบายการจัดหาในภาครัฐตามยุทธศาสตร์การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจฯของรัฐบาล โดยจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตในประเทศและผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ตามโครงการพิเศษร่วมกับองค์การเภสัชกรรม

4. เน้นย้ำนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่ง สปสช.รับรางวัลองค์กรบริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่น กองทุนหมุนเวียนเกียรติยศ จากกระทรวงการคลังเกือบทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

5. ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีโลก ซึ่งเป็นการสร้างเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีสุขภาพโลก และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสุขภาพในภาพรวมในระดับนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และร่วมผลักดันทุกประเทศสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในเวทีเจรจาระดับโลก เพื่อการลงทุนด้านสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผลักดันปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ  เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ด้วย

แน่นอนว่า หลังจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศก็จะไม่หยุดนิ่ง ส่วนจะก้าวทะยานมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจ-ความใส่ใจ ของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารในอนาคตอันใกล้นี้