ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วหน้า และยังมีผลงานที่โดดเด่นมาก    

World Economic Forum กล่าวว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนมากกว่า 98% สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ทั้งยังกลายเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเทศอื่น ๆ นำไปใช้

ปัจจุบัน ประชาชนทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากความยากจนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยในทวีปแอฟริกามีจำนวนประชาชนมากถึง 11 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นคนจนจากค่ารักษาพยาบาล

ปัจจุบันมีหลายประเทศพยายามที่จะนำนโยบายหลักประกันสุขภาพมาใช้ โดยมีความสำเร็จในระดับต่าง ๆ กันได้แก่ประเทศโคลัมเบีย เกาหลีใต้ ตุรกี และเม็กซิโก 

และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็เพิ่งลงนาม พ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้า

15 เมษายนที่ผ่านมา World Economic Forum เปิดเผยบทความในหัวข้อ “Thailand gave healthcare to its entire population and the results were dramatic” ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยแต่ประสบความสำเร็จในการนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ ส่งผลให้สุขภาพของประชาชนในประเทศดีขึ้น นอกเหนือจากการทำให้ประชาชนได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม รวมทั้งยังทำให้อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลดลงและเพิ่มอายุขัยให้กับประชากรมีชีวิตยืนยาวได้อีกด้วย

จากที่รัฐบาลไทยปฏิรูประบบสาธารณสุขใหม่เมื่อปี พ.ศ.2544 นำระบบประกันสุขภาพมาใช้ ไทยใช้เวลาเพียง 10 ปีในการทำให้คนไทยมากถึง 98% ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และทำให้การเสียชีวิตของทารกไม่มีความสัมพันธ์กับความยากจนอีกต่อไป  ( the correlation between proverty and infant motality disappeared) รวมถึงประชากรยังมีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้นกว่าเดิม นอกเหนือจากนั้นค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ เช่น ค่ารักษาหรือค่ายา ก็ยังไม่ได้เป็นภาระให้กับประชาชนจนแบกรับไม่ไหว

ผ่านมาแล้วกว่า 18 ปี จากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบที่ดีให้หลาย ๆ ประเทศเรียนรู้ ปัจจุบันไทยได้จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับประเทศเคนยาในการเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้เชี่ยวชาญในการมอบองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยรัฐบาลเคนยาตั้งเป้าว่าจะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ภายในปี พ.ศ.2565

ภายใต้ความสำเร็จที่กล่าวมาของไทย ยังมีหลายคนตั้งคำถามต่อคุณภาพภายในโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับระบบประกันสุขภาพดังกล่าว สอดคล้องกับการศึกษาของ OECD ที่ชี้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริการสุขภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดีขึ้น แต่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในพื้นที่ชนบทยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงินและระยะทาง

อย่างไรก็ดี รายงานจาก World Bank Group เมื่อปี พ.ศ.2556 ที่ได้ทำการศึกษา 22 ประเทศเพื่อหาวิธีจัดการระบบประกันสุขภาพที่เหมาะสม โดยได้ผลสรุปออกมาว่า ต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรเป็นระบบที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยการใช้ระบบการบริหารจัดการที่หลากหลาย เพื่อสร้างความรับผิดชอบที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การใช้ระบบแรงจูงใจด้านประสิทธิภาพและการควบคุมราคาเพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้เงินอุดหนุนภาครัฐสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนยากจน  

หมายเหตุ: จากในบทความที่มีการกล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าคิดเป็น 17% จากรายจ่ายทั้งหมดของรัฐนั้นไม่ถูกต้อง ตัวเลขดังกล่าวคือรวมรายจ่ายทางสุขภาพทั้งหมด ไม่ใช่แค่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียว ตัวเลขที่ถูกต้องของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยอยู่ที่ 6+%

ที่มา: Thailand gave healthcare to its entire population and the results were dramatic