ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ สปสช. ตั้ง “คณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาคนไทยไร้สิทธิ” รุกดูแลคนไทยไม่มีบัตรประชาชน ช่วยคืนสิทธิความเป็นคนไทย เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ พร้อมเร่งเสนอจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ” ระหว่างรอพิสูจน์ เหตุปัญหาเกี่ยวโยงหลายหน่วยงานทั้ง มท. พม. สธ. สภาความมั่นคง ต้องแก้อย่างเป็นระบบ พร้อมเผยข้อมูลศูนย์คนไร้ที่พึ่ง ปี 2561 ค่ารักษาและดูแลสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะกว่า 20 ล้านบาท   

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการฯ ได้ทำการศึกษาปัญหาคนไทยที่ตกหล่นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และได้นำเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาต่อบอร์ด สปสช. เมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ ได้ลงนามจัดตั้งแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ “คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนมีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สภาความมั่นคงแห่งชาติ ภาคประชาสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยมีกรรมการ สปสช.ที่เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะทำงาน

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องจัดตั้งเป็นคณะทำงานบูรณาการฯ เนื่องจากเฉพาะ สปสช.ไม่สามารถดูแลให้คนไทยไร้สิทธิที่รอพิสูจน์สถานะเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชนและเลข 13 หลักเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงคนไทยที่มีปัญหาสถานะหรืออยู่ระหว่างการรอพิสูจน์ความเป็นคนไทย ทั้งการดำเนินการเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกระทบกับหลายหน่วยงาน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยวางแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำงานเชิงวิชาการก่อน เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ พร้อมได้สำรวจจำนวนคนไทยไร้สิทธิ 30 พื้นที่เป้าหมายใน 26 จังหวัด พบคนไทยตกสำรวจจำนวน 313 คน สอดคล้องกับข้อมูลปัญหาด้านสิทธิสถานะในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่พบคนไทยไม่มีบัตรประชาชนจำนวนมาก เป็นผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ อาทิ เป็นคนไทยแต่ไม่เคยมีบัตรประชาชน เป็นคนเคยมีบัตรประชาชนมาแล้วแต่ไม่ได้ต่ออายุบัตร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิที่อยู่อาศัยและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตร 50 (5) ได้ช่วยเหลือเพื่อให้ได้สิทธิคนไทยกลับคืน โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตใน กทม.และที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคล ซึ่งกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิยังมีอยู่มาก คาดว่ามีราว 50,000-200,000 คน จึงมีข้อเสนอให้ทำการสำรวจทั่วประเทศอีกครั้ง และเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  

ส่วนข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลให้กับคนไทยที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะนั้น ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ ครม.ก็เคยอนุมติให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะมาแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นคนตกหล่นและรอพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทยเช่นกัน เพียงแต่กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน

“เรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างมาก วันนี้เราคุยกันถึงสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับคนหลายกลุ่ม แม้แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวเอง เราก็พยายามให้เขามีระบบรองรับในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งวันนี้คนที่ตกสำรวจทางทะเบียนเป็นคนไทย และพยายามหาหลักฐานต่างๆ มาแสดงสิทธิ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องกระบวนการพิสูจน์และมาตรการการดูแลสุขภาพระหว่างรอการพิสูจน์” คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพฯ กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลการเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงให้บุคคลมีสิทธิได้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่นำเสนอโดยคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้มีปัญหาสถานะที่อาศัยอยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พบว่า ปี 2560 มีการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 6,976 ครั้ง เป็นค่าใช้จ่าย 6.77 ล้านบาท ผู้ป่วยใน 884 ราย เป็นค่าใช้จ่าย 13.21ล้านบาท ขณะที่บริการคัดกรองโรค ได้แก่ โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง วัณโรค เอชไอวี และโรคตับ แต่ละปีมีผู้เข้ารับการคัดกรองเฉลี่ย 3,000 ราย/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่าย 2.5 ล้านบาท