ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดูแลผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย สปสช. เผยปี 2566 มีผู้ใส่ฟันเทียมภายใต้โครงการแล้ว 40,560 คน ใส่รากฟันเทียม 1,181 คน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 ก.ค. 2566 นี้ เพื่อดูแลผู้สูงอายุและประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมอนามัย กรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ร่วมกับ สปสช. มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมดำเนินการ “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567”

โครงการฯ นี้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2567 นอกจากให้บริการใส่ฟันเทียมที่กำหนดเป้าหมาย 7.2 หมื่นราย ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว ได้เพิ่มเติมการให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม โดยเบื้องต้นยังเป็นการให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อเป็นการจัดระบบนำร่องการบริการก่อน กำหนดเป้าหมาย 7,200 ราย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการเข้ารับบริการตามโครงการฯ นั้น ต้องย้ำว่าในส่วนของการใส่ฟันเทียม จะเป็นบริการที่ครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะผู้ป่วยใหม่เท่านั้น แต่ผู้ป่วยเก่าที่เคยเข้ารับบริการในโครงการฯ ก่อนหน้านี้ ก็เข้ารับบริการได้เช่นกัน หากใส่ฟันเทียมชุดเก่านานกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในระยะ 9 เดือน พบว่า การจัดบริการฟันเทียมดำเนินการได้สูงกว่าค่าเป้าหมาย ให้บริการไปแล้ว 40,560 คน

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลแต่ละสิทธิสามารถเข้าการรับบริการได้ ดังนี้

ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้ารับการใส่ฟันเทียมได้ที่โรงพยาบาลรัฐได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการประจำ สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการทันตกรรมใกล้บ้านได้ เพื่อความสะดวกในการรักษาต่อเนื่อง ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน จำนวนกว่า 800 แห่ง

ผู้มีประกันตน สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมเอกชนในระบบประกันสังคม ซึ่งหน่วยบริการจะเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคมตามจริงไม่เกินวงเงิน 4,400 บาท

ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ส่วนบริการฝังรากฟันเทียมนั้น ในปี 2566 กำหนดให้บริการ 3,500 รายก่อน เพื่อเป็นการดูแลผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม ขยับ และจำเป็นต้องใส่รากฟันเทียมเพื่อยึดฟันเทียมให้แน่นขึ้น โดยรากฟันเทียมที่นำมาใช้ในโครงการนี้เป็นนวัตกรรมรากฟันเทียมที่คิดค้นโดยฝีมือคนไทยโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ และต้องย้ำว่าเบื้องต้นการใส่รากฟันเทียมนี้ ยังเป็นให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองก่อนเพื่อเป็นการนำร่องบริการ โดยทันตแพทย์ผู้ให้บริการจะเป็นผู้วินิจฉัย หากพบว่ามีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม ไม่ยึดติด ก็จะส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการใส่รากฟันเทียมต่อไป ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาล 232 แห่งที่ให้บริการได้ มีผู้ที่ได้รับบริการฝังรากฟันเทียมแล้ว 1,181 คน ผู้ที่อยู่ในคิวรอรับบริการ 747 คน และผู้ที่รอการคัดกรอง 428 คน

“ในช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เริ่มให้บริการฟันเทียมและรากฟันเทียมตามโครงการฯ มีประชาชนที่สนใจและเข้ารับบริการจำนวนมาก โดยผู้ที่ได้รับบริการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กินอาหารได้มากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพที่ดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

1

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1. สายด่วน สปสช. 1330
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw