ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“รู้สึกช็อก! ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าพ่อวัยกว่า 75 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถออกไปทำนา ตัดไม้มาเผาถ่านไว้ใช้ในครัวเรือน จะเจ็บป่วยกะทันหันกลายเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกด้านขวา ยกแขนขาด้านขวาไม่ขึ้น น้ำเสียงที่พูดจะอยู่ในลำคอ ฟังแทบไม่รู้เรื่อง จนต้องใช้วิธีการเดาว่าพ่อพูดอะไรกับเรา ช่วยเหลือตัวเองได้เพียงเล็กน้อย”

ไพบูลย์ เพชรแสง อายุ 33 ปี ชาวจังหวัดยโสธร ปัจจุบันเช่าบ้าน ซอยพหลโยธิน 52 กรุงเทพฯ เล่าความรู้สึกที่เห็นอาการพ่อครั้งแรกที่บ้านเกิด เมื่อปลายปี 2560 ทันทีที่เห็นอาการพ่อตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกเลย น้ำตาซึมออกมาอย่างไม่รู้ตัว  แล้วหันมาถามแม่ว่าทำไมอาการพ่อหนักอย่างนี้

แม่เล่าให้ฟังว่าพ่อบ่นปวดหัวมากตั้งแต่เช้า แม่จะพาไปหาหมอพ่อดื้อไม่ยอมไปท่าเดียว จนเห็นพ่ออาการไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจขับมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายกันไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยใช้สิทธิบัตรทอง พอหมอตรวจเสร็จก็ตัดสินใจส่งตัวพ่อไปรักษาโรงพยาบาลยโสธร หมอที่โรงพยาบาลบอกว่าพ่อมีปัญหาเส้นเลือดสมอง ตอนนั้นแขนขายกไม่ได้แล้ว

 หมอพาไปเข้าเครื่องเอกซเรย์ เข้าเครื่องตรวจโน่นนี่หลายอย่าง หมอให้พ่อนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่พ่อดื้อไม่ยอมนอนเพราะเป็นห่วงหลาน 2 คนที่อยู่บ้าน หมอจ่ายยาให้มากิน วันนั้นพ่อกับแม่ไม่ได้เอาโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย มอเตอร์ไซค์ที่ขี่ไปก็อยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พ่อกับแม่ต้องจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างซ้อน 3 กันมาส่งที่บ้าน พ่อก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา   

"ตอนที่แม่โทรศัพท์บอกว่า พ่อไม่สบายมากนะให้มาเยี่ยมพ่อเร็วๆ ซึ่งน้ำเสียงของแม่ร้อนรนพร้อมมีเสียงสะอื้นเหมือนร้องไห้ผ่านมาทางโทรศัพท์ เธอยังพูดปลอบใจแม่ว่าพ่อไม่เป็นอะไรมากหรอก พ่อยังแข็งแรง วันนี้หนูขอขายส้มตำก่อนนะ พรุ่งนี้เช้าจะรีบขับรถจากกรุงเทพฯกลับยโสธรไปหาพ่อกับแม่นะ"

ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้พ่อเคยมีอาการลักษณะนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน ไม่แน่ใจว่าอาการป่วยจะมาจากการใช้ชีวิตของพ่อซึ่งสะสมมาตั้งแต่วัยรุ่นรึป่าว พ่อสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ดูแลเรื่องสุขภาพ ตอนที่ป่วยครั้งแรกตอนนั้นแม่พาไปหาหมอ หมอก็ให้ยามากินอาการดีขึ้น แต่สังเกตเห็นว่าพ่อเดินเซบ้างเล็กน้อย โดยที่ทุกคนในครอบครัวไม่รู้ว่าโรคเส้นเลือดสมองของพ่อจะต้องกินยาตลอดชีวิต

ตอนที่พ่อป่วยมีอาการครั้งแรกหมอไม่บอกคนไข้หรือย้ำกับคนไข้ว่ากินยาหมดแล้วให้กลับมาหาหมออีกนะ ทุกคนในครอบครัวคิดว่าพ่อกินยาหมด เห็นอาการดีขึ้นพ่อออกไปทำนา เผาถ่านเหมือนคนปกติ เข้าใจกันว่าพ่อหายดีแล้ว ภายหลังที่พ่อไม่ได้กินยาประมาณ 3-4 เดือน พ่อล้มป่วยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้อาการหนักมากถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว

เมื่อพ่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนคอยดูแลและภาระค่าใช้จ่าย จะให้แม่ดูแลพ่อก็ไม่ได้ เนื่องจากแม่มีอายุมากแล้วและแม่เป็นคนตัวเล็ก จะยกจะอุ้มพ่อไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าคงทำไม่ไหว เกรงว่าแม่จะป่วยไปอีกคน อีกอย่างแม่ต้องเลี้ยงหลาน 2 คนซึ่งเป็นลูกของเธอ 

พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ปัจจุบันทุกคนมีครอบครัวแล้วเข้ามาประกอบอาชีพขับรถพ่วงข้างขายส้มตำอยู่กรุงเทพฯ ซึ่ง 4 พี่น้องได้ปรึกษากัน ตกลงกันว่าจะพาพ่อไปพักบ้านพี่สาว 2 เดือน และมาอยู่กับเธอ 2 เดือน ส่วนภาระค่าใช้จ่าย พ่อพักอยู่กับลูกคนไหน ลูกคนนั้นจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย

พ่อมาอยู่ด้วยและช่วยเหลือตัวเองได้เพียงเล็กน้อย ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนเธอและสามีจะตื่นตี 4  ตอนนี้ต้องตื่นตี 3 มาตลาดเพื่อซื้อของสำหรับขายส้มตำ และเมนูอีสานต่างๆ เมื่อกลับจากตลาด พ่อตื่นเธอจะแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ ทาแป้งแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าให้พ่อ เพื่อให้พ่อสบายตัว จากนั้นจะชงโอวัลตินหรือน้ำเต้าหู้ ขนมปัง ให้พ่อกินรองท้องทุกเช้า และก่อนออกจากบ้านไปขายส้มตำจะเตรียมอาหารไว้ให้พ่อ คือพ่อหิวเมื่อไหร่ก็ตักกินได้ทันที

ส่วนเธอและสามีจะขับรถพ่วงตระเวนขายส้มตำ แต่ไม่ว่าจะไปขายใกล้หรือไกลจากบ้าน ประมาณบ่าย 2 โมงเย็นจะขับรถพ่วงมาดูพ่อ มาเปลี่ยนกางเกงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้พ่อจนเสร็จเรียบร้อย และเธอมักจะซื้ออาหาร ผลไม้ไว้ให้พ่อกินด้วย จากนั้นเธอถึงจะออกไปตระเวนขายส้มตำจนกระทั่งขายหมดแล้วกลับบ้าน วันไหนขายดีหมดไวจะรีบกลับบ้าน เพื่อพาพ่อเดินวอร์กเกอร์บริเวณหน้าบ้าน โดยเธอหรือแฟนจะจับชายเสื้อของพ่อไว้จะได้ไม่หกล้ม

“การพาพ่อออกมาเดินจะช่วยให้ร่างกายขยับเยื้อน ไม่เหงา ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และทำให้พ่อรับรู้ว่าลูกเอาใจใส่ และไม่อยากเห็นลูกลำบาก พ่อหมั่นออกกำลังกาย จากที่ไม่เคยยกแขนขา ตอนนี้พ่อใช้มือซ้าย จับมือขวาที่กำให้คลี่ออกบ่อยๆ จะได้เส้นไม่ยึดตามคำแนะนำของหมอนวดแผนไทย”

ไพบูลย์ บอกว่า ทุกวันเธอจะจัดยาของพ่อใส่ถุงเล็กๆ กินเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน วางเรียงไว้ให้พ่อ ถ้าวันไหนขายส้มตำกลับมาช้า พ่อจะได้กินข้าวและหยิบยากินเองได้ อีกทั้งเธอโชคดีมีเพื่อนบ้านที่เช่าอยู่ใกล้กัน คอยเป็นหูเป็นตา หมั่นมามองพ่อ จึงคลายความเป็นห่วงพ่อได้บ้าง

ในช่วงแรกๆ ที่พ่อเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก เธอสังเกตสีหน้าว่าพ่อเศร้า หดหู่ ไม่ค่อยช่วยเหลือตัวเอง เธอมักจะพูดให้กำลังใจพ่อตลอดเวลาว่าพ่อโชคดีกว่าคนอื่นนะ พ่อไม่มีโรคแทรกซ้อน ไม่เป็นเบาหวาน ไต หัวใจ บางคนป่วยหลายโรคช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าออกโรงพยาบาล ส่วนพ่อเป็นแค่ซีกขวาซีกซ้ายยังขยับได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ตักข้าวกินเอง หยิบจับของได้เอง ถ้าหากพ่อแข็งแรงเมื่อไหร่จะพาไปหาหลานที่ยโสธร คำพูดให้กำลังใจทำให้พ่อมีแรงฮึด หมั่นเดินและขยับร่างกายมากขึ้น สีหน้าไม่ท้อแท้อีก พ่อกลับมาสู้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แม้จะรู้ดีว่าอาการที่เป็นคงไม่หายขาด ขอแค่ไม่เจ็บป่วยไปมากกว่านี้ก็พอแล้ว   

เธอและสามีจะขับรถพาพ่อมาตรวจรักษาที่ยโสธรตามหมอนัด 2 เดือนครั้งตามสิทธิรักษาบัตรทองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อคุณหมอตรวจและจ่ายยามาให้ เธอจะพาพ่อมานอนพักที่บ้านยโสธรหลายวัน ต้องการให้พ่อรู้สึกอบอุ่นได้อยู่กับแม่และหลานๆ ซึ่งทุกครั้งที่กลับบ้านจะเห็นแววตาและสีหน้าของพ่อดีขึ้น เธอถือโอกาสไปหาลูก 2 คน กราบแม่ บางครั้งก็ขับรถพาพ่อ แม่ และลูก ไปเที่ยวด้วย

เคยมีหลายคนถามว่าทำไมไม่ย้ายสิทธิบัตรทองของพ่อมากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่พ่อพักอยู่กรุงเทพฯ ไพบูลย์ อธิบายว่า คนไข้ที่กรุงเทพฯมีจำนวนมาก กว่าจะได้พบหมอและตรวจจะเสียเวลา 1 วัน ขณะที่พาพ่อมาตรวจรักษาที่ยโสธรคนไข้น้อยกว่าตรวจไม่ถึงครึ่งวันก็รับยากลับบ้านได้แล้ว เธอคิดว่าการตรวจรักษาที่ต่างจังหวัดสะดวก รวดเร็วกว่ารักษาในกรุงเทพฯ ที่สำคัญถือโอกาสให้พ่อมาหาแม่และเห็นหน้าหลาน

ไพบูลย์ ยังเล่าด้วยว่า เธอมีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณพ่อที่เลี้ยงดูเธอมาจนโต เมื่อพ่อเจ็บป่วย เธอตั้งใจดูแลพ่ออย่างดีที่สุดเท่าที่กำลังและความสามารถของเธอทำได้ ระหว่างที่พ่ออยู่กับเธอมักจะหาวันหยุด พาพ่อไปนวดคลายเส้น ล่าสุดเธอกับสามีขับรถไปจังหวัดสิงห์บุรีพาพ่อไปนวดแพทย์แผนไทย พ่อบอกว่าชอบนวดที่นี่ เขานวดไม่เจ็บ นวดแล้วสบายตัว จะให้พามานวดอีก ก็ตอบพ่อไปว่าเดือนหน้าค่อยมานวดใหม่ ส่วนจังหวัดสิงห์บุรีมีวัดจำนวนมาก เธอจึงถือโอกาสพาพ่อเที่ยว ทำบุญไหว้พระ อยากให้พ่อรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ เธอคิดว่าพ่อสุขภาพจิตดี ร่างกายก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ทุกครั้งที่ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน พ่อจะกินข้าวได้มากขึ้น นอนหลับสนิท

“ยอมรับว่าเหน็ดเหนื่อยต้องตื่นตั้งแต่เช้า และตลอดทั้งวันต้องขับรถตระเวนขายสัมตำ และต้องหาเวลาช่วงกลางวันกลับมาดูพ่อที่ป่วยอัมพฤกษ์ ต้องอดทน ถ้าหากไม่ขายของจะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูพ่อ และครอบครัว มักจะปลอบใจตัวเองเสมอว่า พ่อยังโชคดีที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อใช้วอร์กเกอร์ช่วยพยุงตัวเดินได้แม้จะลากขาขวา ไม่ถึงกับนอนติดเตียง”  

จากนั้น ไพบูลย์ เล่าที่มาของการเข้ามาอยู่กรุงเทพฯให้ฟังว่า เริ่มจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านผือฮี จังหวัดยโสธร ตอนนั้นอายุประมาณ 15-16 ปี ก็ขอพ่อ แม่ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะไม่ต้องการแบมือขอเงินพ่อแม่ใช้ อยากหาเงินด้วยลำแข้งตัวเอง พ่อแม่คัดค้านไม่อยากให้มาอยู่กรุงเทพฯเพราะเป็นห่วง สุดท้ายแม่ทนเสียงรบเร้าของเธอไม่ไหว อนุญาตให้เธอเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ เธอได้งานทำ เป็นพนักงานขายขนมหวานที่โลตัส ย่านศรีนครินทร์ ทำอยู่ 3 ปี เจ้าของร้านขนมหวานให้ย้ายไปขายโลตัส หลักสี่ และอื่นๆ ช่วงหลังๆ ย้ายที่ขายบ่อยมาก จึงตัดสินใจขอลาออกเพราะไม่อยากย้ายที่อยู่บ่อยๆ ที่สำคัญรายได้เมื่อหักค่าเช่าบ้าน ค่าอาหารและอื่นๆ แทบจะไม่มีเงินเหลือ

ประกอบกับเธอแต่งงานมีครอบครัว หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน เธอตั้งครรภ์แพ้ท้องจะลาหยุดไปหาหมอ ก็หยุดยาก จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เปลี่ยนมารับทำกิ๊ฟช็อป เย็บเสื้อโหล อยู่กับบ้าน เป็นงานอิสระ ขยันก็ได้เงินมาก คิดว่าอาชีพนี้มีอิสระกว่าเป็นลูกจ้าง สามารถหยุดได้ เพียงแต่จะต้องส่งงานให้ทันตามที่เขานัดมารับของเท่านั้น

ตอนท้องน้องคนแรก สิทธิบัตรทองอยู่ที่ยโสธร ตอนนั้นรู้สึกกลัวการคลอดลูก ปรึกษาแฟนไปฝากท้องที่โรงพยาบาลภูมิพล  และผ่าคลอด ได้ลูกชาย โดยค่าใช้จ่ายในการคลอดต้องจ่ายเองทั้งหมด พอคลอดลูกชายได้ระยะหนึ่งก็ส่งลูกไปให้พ่อแม่ช่วยเลี้ยง เธอกับแฟน ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพโดยมาขับรถพ่วงขายส้มตำ เมนูอีสาน จนถึงทุกวันนี้

พอตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 เธอรู้แล้วว่าการเจ็บคลอดลูกเป็นอย่างไหร่ จึงขอให้เจ้าของบ้านเช่าช่วยเซ็นรับรอง จนได้ใช้สิทธิบัตรทอง ที่โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ กรุงเทพฯ แต่ท้องนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีภาวะน้ำตาลสูงระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะท้องแข็ง จนกระทั่งแพทย์ต้องฉีดยาระงับการคลอด แพทย์แนะนำให้หยุดขายส้มตำระยะหนึ่ง เพราะกรงว่าจะมีผลกระทบกับเด็กในครรภ์ จนกระทั้งตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนเศษ เธอมีอาการปวดท้องมาก ท้องแข็งเกร็งตลอดเวลา แพทย์ตรวจอาการและตัดสินใจผ่าคลอด เธอได้ลูกสาว ในการคลอดครั้งนี้เธอไม่เสียค่าทำคลอดแม้แต่บาทเดียว ขณะนี้ลูกสาวอายุ 1 ขวบ

...ไม่ว่าวันข้างหน้าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้น เธอกับแฟนตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่า จะตระเวนขับรถพ่วงขายส้มตำเลี้ยงพ่อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เลี้ยงลูก 2 คน ให้ดีที่สุด

“เคยมีหลายคนถามว่าทำไมไม่ย้ายสิทธิบัตรทองของพ่อมากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่พ่อพักอยู่กรุงเทพฯ เพราะว่าคนไข้ที่กรุงเทพฯมีจำนวนมาก กว่าจะได้พบหมอและตรวจจะเสียเวลา 1 วัน ขณะที่พาพ่อมาตรวจรักษาที่ยโสธรคนไข้น้อยกว่าตรวจไม่ถึงครึ่งวันก็รับยากลับบ้านได้แล้ว การตรวจรักษาที่ต่างจังหวัดสะดวก รวดเร็วกว่ารักษาในกรุงเทพฯ”