ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ พัฒนารูปแบบฟื้นฟูสมรรถภาพ ‘ใช้ดนตรีบำบัด’ ร่วมกับกายภาพบำบัด หนุนดูแล ‘จิตใจ-อารมณ์-สังคมของผู้ป่วย’ ควบคู่กับการฟื้นฟูทางร่างกาย เพิ่มคุณภาพชีวิต-ป้องกันปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่อาจส่งผลต่อร่างกายในอนาคต 


นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบ (Model development) การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการผสมผสานระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ด้วยกิจกรรมบำบัดและกายภาพบำบัด ร่วมกับการใช้ศาสตร์ทางด้านดนตรีบำบัด ซึ่งอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ตามหลักการของดนตรีบำบัดที่เป็นสากล 

1

ทั้งนี้ ผ่านกิจกรรมทางดนตรีต่างๆ เช่น การร้อง การฟัง การเล่นเครื่องดนตรี และการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ โดยมุ่งเน้นผลทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ การเข้าสังคม การสื่อสาร การเรียนรู้ การรับรู้ เป็นการต่อยอดการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกายที่มีอยู่เดิม โดยใช้หลักการ การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized healthcare) ซึ่งพยายามเข้าใจมิติความเป็นคนของผู้ป่วยที่มีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น 

นอกจากนี้ ดนตรีบำบัดยังเป็นบริการทางการแพทย์ที่ต้นทุนต่ำ มีความปลอดภัย สามารถประยุกต์ใช้กับทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิมได้ จึงควรได้รับ การสนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้ไปใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และสถานบริการทางการแพทย์ในระดับต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน

2

ด้าน พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานดนตรีบำบัด ให้บริการทั้งในกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยในกลุ่มเด็กจะเน้นผู้รับบริการที่มีปัญหา พฤติกรรม อารมณ์ สังคม สมาธิ หรือมีปัญหาด้านความร่วมมือในการฝึกเป็นหลัก เช่น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม พัฒนาการล่าช้า ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เน้นผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ก้าวร้าว วิตกกังวล มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และสังคม หรือเตรียมความพร้อม ปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพ

พญ.ภัทรา กล่าวต่อไปว่า งานดนตรีบำบัดมีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านดนตรีบำบัดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต/นักศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ สามารถเข้าศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติงานด้านดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านดังกล่าวไปสู่สถานบริการทางสุขภาพในระดับต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพทุกระดับที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

3