ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นี่เป็นครั้งแรกของ จริยาพร วรวิทยพิทยา ที่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในการรับการรักษาผ่าน “โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) 16 กลุ่มอาการ รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน” จากการได้รับคำแนะนำจากญาติ ภายหลังมีอาการปวดท้องเกร็งมา 2-3 วัน เนื่องจากเป็นประจำเดือน 

ขณะที่เดิมถ้าจริยาพรไม่ซื้อยาจากร้านขายยา ก็จะไปรับที่สถานพยาบาลปฐมภูมิอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นหน่วยบริการประจำของเธอ หรือคลินิกเอกชน ซึ่งในบางครั้งอาจต้องรอคิวนาน และต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพง

1

หลังจากจริยาพรรับยาเพื่อรักษาอาการของเธอที่ “ร้านยาบ้านอิ๋ว” ซึ่งเป็นหน่วยบริการในโครงการแล้ว พบว่าขั้นตอนการรับบริการไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพียงพกบัตรประจำตัวประชาชนมาใบเดียว ที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งทำให้เธอตัดสินใจง่ายขึ้นในการมารับยาที่นี่ หากครั้งต่อไปเธอมีอาการป่วยเล็กน้อยเหล่านี้อีก

“โครงการนี้เป็นโครงที่ดี เพราะทำให้รับยาได้สะดวกรวดเร็วใช้เวลาไม่นาน ไม่มีขั้นตอนอะไรซับซ้อน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย อยากให้ร้านขายยาเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้น เพื่อจะได้ให้คนเข้าถึงมากขึ้น” จริยาพร กล่าว

1

จริยาพรยังยืนยันอีกด้วยว่าค่อนข้างพึงพอใจมาก และมีความมั่นใจในยาที่เภสัชกรจัดมาให้ เนื่องจากมีการแสดงใบรับรองที่ได้มาตรฐานจากสภาเภสัชกรรม รวมถึงสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ที่แปะอยู่หน้าร้านซึ่งเป็นเครื่องยืนยันการเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช.

ทั้งนี้ ร้านยาบ้านอิ๋ว ตั้งอยู่ที่ ต.บางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี มี ภก.ฐานวีร์ ศุภนิมิตวงศ์ เภสัชกรประจำร้าน และเจ้าของกิจการ โดยได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. เพื่อดำเนินโครงการ common illnesses มาตั้งแต่ พฤศจิกายน 2565 

เหตุผลการเข้าร่วมนั้น ภก.ฐานวีร์ บอกว่ารู้สึกสนใจในโครงการ และคิดว่าเป็นบทบาทที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับร้านยา รวมถึงมองว่าสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งใน “จุดเปลี่ยน” ของ “ระบบบริการสาธารณสุขไทย” ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ ที่ให้ใช้บัตรประชาชนอย่างเดียวในการรับยาภายใต้กรอบอาการที่กำหนดไว้ อันประกอบด้วย ปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ ท้องผูก ไข้ อาการทางผิวหนัง (เช่น ผื่น คัน) บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา ความผิดปกติต่างที่เกิดขึ้นกับหู เจ็บคอ และไอ

2

มากไปกว่านั้น ขั้นตอนก็มีไม่มาก ได้แก่ 1. นำบัตรประชาชนให้เภสัชกรตรวจสอบสิทธิการรักษา 2. เภสัชกรจะซักประวัติและถามอาการ 3. เภสัชกรจะจัดยาตามความเหมาะสมของอาการครอบคลุม 3-5 วัน 4.เมื่อพ้น 72 ชั่วโมงแล้วทางเภสัชกรจะมีการโทรติดตามอาการผู้ป่วย  

เจ้าของร้านยาบ้านอิ๋ว กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มให้บริการในโครงการนี้มามีคนมารับบริการประมาณ 1,500 คน ทว่า บางคนมีการมาใช้บริการ 2-3 ครั้ง โดยกลุ่มอาการที่พบบ่อยที่สุดจะเป็น ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อันดับสองจะเป็นปวดเมื่อยกล้าม ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่

“เรื่องการเบิกจ่าย ซึ่งร้านยาหลายแห่งอาจเป็นกังวล อยากบอกว่าทุกอย่างไม่ได้ช้าไปเป็น 5-6 เดือน และเงินมาค่อนข้างตรงตามรอบเวลาคือทุก 15 วัน แต่ท้ายที่สุดคือขึ้นอยู่แต่ละร้านยาว่าจะจัดสรรงบประมาณของตนเองได้มากน้อยแค่ไหน” ภก.ฐานวีร์ กล่าว

3

ปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ common illnesses แล้วจำนวน 1,026 แห่งทั่วประเทศ และยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

รวมไปถึงจากข้อมูลทางสถิติที่สภาเภสัชกรรมมีการจัดเก็บไว้พบว่าที่ผ่านมามีผู้ป่วยมารับยาผ่านโครงการจำนวน 133,393 คน โดยรับบริการมากถึง 222,244 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ 97.5% สามารถหายได้ภายในระยะเวลา 3 วันหลังรับบริการ ส่วน 2.5% ที่เหลือเป็นการส่งต่อรักษา เพราะความรุนแรงของอาการป่วยไม่ได้ลดลง 

ในส่วนข้อมูลอาการของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ได้แก่ เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ 44% รองลงมาคือ อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ 25% อาการคัน และผื่นทางผิวหนัง 14% ปวดท้อง 10% และความผิดปกติทางตา 6% 

“ประชาชนเขาก็ชื่นชมมากเลย ว่าหนึ่งคือสะดวก สองเภสัชก็ให้คำปรึกษา และติดตามอาการได้ดีมาก ข้อสำคัญที่สุดก็คือไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง สปสช. รับผิดชอบในส่วนนี้อยู่แล้ว แล้วยาที่ใช้ในร้านยาก็เป็นยาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้การรับรองจาก อย. หมด ฉะนั้นประชาชนเชื่อมั่นได้ว่ายาที่ได้รับไม่ได้มีความแตกต่างจากไปรับที่โรงพยาบาล” ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าว

3

อย่างไรก็ดี ภก.ปรีชา บอกว่า อาการเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการรักษาของประชาชน อนาคตจึงจะมีการขยายความครอบคลุมโรคให้มากขึ้น เป็นต้นว่ายาแก้เมารถเมาเรือ แผลในช่องปาก โรคเก๊า โรคเริมที่ริมฝีปาก นอนไม่หลับ เบื่ออาหารทานไม่ได้ ฯลฯ 

“ยังมีอีกหลายโครงการที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การให้ประชาชนรับชุดตรวจ Self-test ในการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ร้านยา การให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้สามารถรับถุงรองรับอุจจาระได้ด้วย” อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 ระบุ