ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ The Seattle Times เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เผยแพร่บทความเรื่อง Single-payer health care is the only moral prescription for America เขียนโดย Devesh Madhav Vashishtha ซึ่งเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการคุณภาพและการปฏิบัติของ American Academy of Family Medicine

บทความนี้เขียนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกาด้วยระบบกองทุนสุขภาพเดียว ที่ระบุว่า หากเราอยากจะแก้ไขวิกฤติด้านจริยธรรมในระบบประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกาให้ได้อย่างแท้จริง ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสั่งจ่ายยาให้ตรงกับโรค

เราต้องสั่งจ่าย “ระบบสุขภาพกองทุนเดียว” เดี๋ยวนี้

บทความของแพทย์ท่านนี้เขียนเล่าถึง คนไข้คนที่ 3 ในบ่ายวันนี้เป็นหญิงวัย 43 ปีซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ที่โรงพยาบาลซีแอตเทิล คนไข้มาด้วยอาการปวดจากก้อนนูนที่ข้อมือขวาโดยเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ 3 วันก่อน หลังจากทำหน้าที่ย้ายคนไข้มาตลอดทั้งวัน

หมอวินิจฉัยว่าคนไข้มีอาการบวมอักเสบของข้อต่อซึ่งตามปกติแล้วจะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีดามข้อมือ ให้คนไข้พักผ่อน และจ่ายยาต้านการอักเสบ แต่วิธีนี้จะทำให้คนไข้ต้องรับภาระจ่ายร่วมสำหรับค่าปรึกษาแพทย์และการตรวจติดตาม

หมอพยายามช่วยคนไข้ได้รับสิทธิคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลโดยยื่นคำร้องเบิกจ่ายค่ารักษาเนื่องจากอุบัติเหตุในการทำงาน แต่กว่าจะได้รับอนุมัตินั้นคนไข้ก็ต้องผ่านการคัดกรองหลายด่าน ตั้งแต่กรอกคำร้องที่มีรายละเอียดซับซ้อนเป็นภาษาอังกฤษ (ภาษาที่ 2 ของคนไข้) รวมถึงการสัมภาษณ์ร่วมกับนายจ้าง

ประสบการณ์ของคนไข้รายนี้สะท้อนถึงปัญหาระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเต็มไปด้วยกำแพงที่ขัดขวางการให้บริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้

แต่หากเป็นระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวนั้น ภายใต้ระบบสุขภาพแบบนี้นายจ้างจะไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ และเจ้าของกองทุน (เช่น รัฐบาล) ก็จะมีแนวทางที่ชัดเจนว่าคุ้มครองการรักษาใดบ้าง

ในอีกทางหนึ่งระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวยังมีส่วนส่งเสริมคุณภาพการรักษาพยาบาลด้วย เพื่อนร่วมงานของหมอเพื่อรักษาคนไข้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น ซึ่งกว่าที่จะรู้ว่าเด็กไม่ต้องรับภาระจ่ายร่วมแพงหูฉี่ก็ต้องจ่ายยาไปถึง 3 ตัว การรักษาแบบทดลองไปทีละตัวนี้ทำให้เสียเวลากันทุกฝ่าย ทั้งแพทย์ คนไข้ และเภสัชกร

แต่ระบบสุขภาพกองทุนเดียวจะกำหนดให้แพทย์มีสูตรยาอย่างใดอย่างหนึ่งที่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง เช่นกรณีที่วินิจฉัยว่ามีภาวะสมาธิสั้นก็จะมียาให้เลือกราว 5 ตัวสำหรับคนไข้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่ามีมากถึง 18 ตัวและต้องมานั่งปวดหัวว่ายาตัวไหนบ้างที่เบิกได้ ลองนึกถึงระบบสุขภาพที่สิทธิการใช้ยาของคนไข้ไม่จำกัดตามประกันสุขภาพดูสิ

ระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแพทย์เฉพาะจำเพาะสาขา โดยเฉพาะในหมู่คนไข้สวัสดิการเมดิคเอด และจะช่วยให้ผู้ป่วยทุกรายสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่จำกัดด้วยสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาองค์กรแพทย์ เช่น American Medical Association ยืนกรานคัดค้านระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวเพราะเกรงว่าจะเป็นการบังคับแพทย์และส่งผลกระทบต่อค่าตอบแทน มันก็อาจจะจริงอยู่เพราะระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวจะลดช่องทางการหากำไรของบริษัทและตัวแพทย์เอง (โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางจำเพาะสาขา)

ถึงตรงนี้คงต้องตั้งคำถามถึงจริยธรรมกันแล้ว สหรัฐอเมริกามีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลจากความไม่เท่าเทียมด้านสังคมและเศรษฐกิจซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยด้านเชื้อชาติและภูมิศาสตร์ ระบบสุขภาพแบบกองทุนเดียวซึ่งให้บริการอย่างเท่าเทียมโดยเสมอหน้าจะกรุยทางไปสู่สหรัฐอเมริกาที่เท่าเทียม 

เงินเดือนแพทย์และผลกำไรจากค่ายาที่ลดลงนั้นเทียบไม่ได้เลยกับการบรรลุเป้าหมายอันสำคัญยิ่ง และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นด้วยแล้วยิ่งประจักษ์ชัด เพราะสหรัฐอเมริกามีรายจ่ายค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

หมอเบื่อเหลือเกินกับการรักษาแบบสองหน้า...ทางหนึ่งสำหรับคนไข้ที่มีประกันสุขภาพอย่างดีที่ครอบคลุมทั้งการปรึกษาแพทย์และค่ายาที่คนไข้ต้องการ และอีกทางหนึ่งสำหรับคนไข้ประกันสุขภาพระดับล่างที่ต้องจ่ายเพิ่มและกระเสือกกระสนให้ได้รับการรักษา   

หากเราอยากจะแก้ไขวิกฤติด้านจริยธรรมในระบบประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกาให้ได้อย่างแท้จริง ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสั่งจ่ายยาให้ตรงกับโรค

เราต้องสั่งจ่าย “ระบบสุขภาพกองทุนเดียว” เดี๋ยวนี้

ภาพประกอบ: https://1800health.com/general/health-news/single-payer-health-care-program-2/