ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์รายการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5 รายการ ขยายกลุ่มเป้าหมายตรวจสุขภาพช่องปาก เพิ่มการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงในทารกแรกเกิดด้วยเครื่องเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ในประชาชนที่เกิดก่อนปี 2535 และจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5


ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จำนวน 4 รายการ และปรับแผนการจัดหายา เวชภัณฑ์ฯ ตามโครงการพิเศษปี 2566 โดยเพิ่มปริมาณการจัดหาวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก อีก 1 รายการ

รายการสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 4 รายการ ประกอบด้วย 1. บริการตรวจสุขภาพช่องปาก และบริการขัดและทำความสะอาดฟัน สำหรับกลุ่มอายุ 25-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 2. บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self test) 3. บริการตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงในทารกแรกเกิดด้วยเครื่องเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximeter) 4. บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ในประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535

1

ขณะที่การปรับแผนการจัดหายา เวชภัณฑ์ฯ ตามโครงการพิเศษ ปี 2566 เป็นการดำเนินการในส่วนบริการวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2562-2564 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากปีก่อนหน้านี้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการบอร์ด สปสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าวว่า บริการตรวจสุขภาพช่องปากและบริการขัดและทำความสะอาดฟัน เป็นบริการพื้นฐานที่เดิมมีอยู่แล้ว ไม่ใช่บริการใหม่ แต่ไม่ครอบคลุมประชากรกลุ่มอายุ 25-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลปี 2566 ประชากรทั้ง 2 กลุ่มนี้ มี 47.26 ล้านคน ใน 6 เดือนนี้ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายรับบริการที่ร้อยละ 10 หรือ 4.73 ล้านคน โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณสิทธิประโยชน์บริการสร้าเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รูปแบบเหมาจ่ายกรณีทันตกรรมที่มีรองรับไว้เพียงพออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับ บริการชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ที่แหล่งงบประมาณมีงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแบบเหมาจ่ายเอชไอวีรองรับไว้อยู่แล้ว โดยบริการนี้เป็นมาตรการเพิ่มเติมให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบบริการป้องกันและรักษาเร็วขึ้น ทั้งนี้หากพบผลตรวจเป็นบวก จะต้องตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง เบื้องต้นได้ต่อรองราคาชุดตรวจที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ซึ่งกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะได้รับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจะมีเพิ่มขึ้น 238,900 ราย บวกกับกลุ่มเป้าหมายเดิม 660,200 ราย รวมเป็น 899,100 ราย

1

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า สำหรับบริการตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงในทารกแรกเกิดด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีกลุ่มเป้าหมาย 271,800 ราย แต่เนื่องจากปัจจุบันทารกแรกเกิดร้อยละ 50 ได้รับการตรวจด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอยู่แล้ว ซึ่งมีกลุ่มที่ยังไม่ได้ตรวจ 135,900 ราย ขณะที่บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ในประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 จะเป็นการตรวจ 1 ครั้งตลอดชีวิต มีกลุ่มเป้าหมาย 20-30 ล้านคน แต่ในระยะ 6 เดือนนี้ ตั้งเป้าตรวจคัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน โดยทั้ง 2 รายการนี้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมปี 2565 ในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในส่วนของการปรับแผนการจัดหายา เวชภัณฑ์ฯ ตามโครงการพิเศษ ปี 2566 จะเป็นส่วนของบริการวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2562-2564 เนื่องจากปี 2562-2564 มีวัคซีนเอชพีวีไม่เพียงพอให้จัดซื้อ ทำให้มีนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ตกค้างยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1.2 ล้านคน ทำให้มีส่วนที่ต้องจัดซื้อเพิ่มเติมอีก โดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมปี 2565 รายการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

“ภารกิจสำคัญของบอร์ด สปสช. คือการดูแลและคุ้มครองผู้มีสิทธิบัตรทอง ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ซึ่งในวันนี้นอกจากได้ขยายการดูแลกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งภายหลังจากนี้ ทาง สปสช. จะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการดูแลตามมติที่ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติครั้งนี้” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ