ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. รับยื่นหนังสือ “ภาคีคนทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนไทยทุกคน” ย้ำ บอร์ด สปสช. เร่งแก้ปัญหา เดินหน้าออก พ.ร.ฎ. มอบให้ สปสช. ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เตรียม ครม. พิจารณา 14 มี.ค. นี้ 


ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวแทนรับหนังสือจากภาคีคนทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนไทยทุกคน ที่นำโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อขอให้เร่งดำเนินการเพื่อให้คนไทยที่ไม่ใช่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ตามสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือ P&P เป็นบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งภายหลังจากมีข้อติดขัดในมาตรา 9 และ 10 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีความห่วงใยอย่างยิ่งในผลกระทบต่อผู้ที่ต้องได้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการฝากครรภ์ เด็กแรกเกิดที่ต้องได้รับวัคซีนพื้นฐาน รวมถึงการติดตามดูแล เป็นต้น ที่ผ่านมาจึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนแก้ปัญหา 

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และในวันนี้ (9 มี.ค.) บอร์ด สปสช. ก็จะมีการประชุมวาระด่วนพิเศษ เพื่อเร่งพิจารณากรณีปัญหาข้อติขัดในกฎหมาย และเตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อมอบให้ สปสช. ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน ภายใต้มาตรา 9 และ 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 14 มีนาคมนี้ 

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นวิกฤติอย่างยิ่งเพราะทำให้ผู้ที่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คาดว่ามีประมาณ 20 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธินี้ โดยเฉพาะกลุ่มต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เด็กๆ ที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรค และผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในชุมชน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลกระทบต่อองค์กรและหน่วยบริการ โรงพยาบาล ที่ต้องให้การดูแลประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองในการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ นี้ไปก่อน ถือเป็นภาระงบประมาณที่ต้องสำรองเงินจ่ายและรอการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทแล้ว  
   
“การขับเคลื่อนของเราเป็นเรื่องทางบวก เพราะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นบริการที่ถือเป็นกล่องดวงใจของระบบหลักประกันสุขภาพ การดูแลเฉพาะด้านการรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมีบริการนี้ควบคู่เพื่อป้องกันภาวะความเจ็บป่วยของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการักษาที่สูงกว่าการป้องกัน” รศ.ดร.กฤตยา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนีก็ถือเป็นโอกาสเพราะทำให้คนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองเข้าใจในสิทธิที่พึ่งมีด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ มากขึ้น