ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ธนาคารโลกเผยแพร่บทความเรื่อง “Lack of Health Care is a Waste of Human Capital: 5 Ways to Achieve Universal Health Coverage By 2030” โดยระบุว่า

ปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลไม่เพียงเป็นความอยุติธรรม หากยังทำให้ศักยภาพของบุคคลและทุนมนุษย์ของประเทศเสียเปล่า ทุนมนุษย์นั้นหมายถึงความรู้ ทักษะ และสุขภาพที่บุคคลสั่งสมมาชั่วชีวิต ซึ่งทำให้บุคคลตระหนักถึงศักยภาพของตนในฐานะสมาชิกที่มีส่วนร่วมในสังคม สุขภาพเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ  หากปราศจากสุขภาพที่ดีเด็กก็ไม่สามารถไปเรียนหนังสือ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีการศึกษาดีต่างหากที่เป็นทรัพยากรอันขาดไม่ได้สำหรับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

ศูนย์ข่าว สปสช.เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ จึงแปลเผยแพร่ดังนี้

เซซิเลีย โรดริเกวซ พบจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่หลังตรวจพบโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เมื่อ 8 ปีก่อน  เธอเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังพยายามผลักดันในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพปฐมภูมิในชิลีนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เธอต้องการในฐานะที่เป็นผู้ป่วย

เซซิเลียร่วมมือกับน้องสาวซึ่งก็เป็นรูมาตอยด์เช่นเดียวกันก่อตั้งมูลนิธิ Fundación Me Muevo เพื่อให้การสนับสนุนแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังขณะที่ตัวเธอเองก็เริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้ Me Muevo กลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยผู้ป่วยเอง  

“ระบบสุขภาพมีแนวโน้มมุ่งไปที่การรักษาโรคเฉียบพลันและแทบไม่เคยใส่ใจผู้ป่วยโรคเรื้อรังค่ะ” เซซิเลียเผย “เราเรียกองค์กรของเราว่า Me Muevo (‘ฉันเคลื่อนไหว’) เพราะการที่เราเป็นรูมาตอยด์ทำให้เราต้องคอยเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอด  ซึ่ง ‘ฉันเคลื่อนไหว’ ก็ยังมีความหมายว่า ‘ฉันลงมือทำ’ ด้วย”

เซซิเลียเป็นส่วนหนึ่งของกระแสระดับโลกที่ผลักดันให้หลักประกันสุขภาพถัวนหน้า (universal health coverage, UHC) เกิดขึ้นได้จริงบนพื้นฐานว่าทุกคนควรสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นโดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินทอง

บริการสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573

วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (12 ธันวาคมของทุกปี) ถือเป็นกำหนดสำหรับประเมินความคืบหน้าของการมุ่งสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายภาครัฐที่เข้มแข็งและการปฏิรูปอย่างจริงจังทำให้หลายประเทศสามารถขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้

อย่างไรก็ดีสถิติของกลุ่มธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกประเมินว่า กว่าครึ่งของประชากรโลกยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และแต่ละปีมีประชากรกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกกลายเป็นคนยากจนเพราะค่ารักษาพยาบาล

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีหลักการว่าทุกคนต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นโดยไม่ก่อให้เกิดภาระด้านการเงิน 

บริการสุขภาพที่ครอบคลุมนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละประเทศ

การบรรลุถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 เป็นพันธกิจระดับโลกภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน   นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของกลุ่มธนาคารโลกที่จะขจัดความยากจนและสร้างความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะไม่มีวันเป็นจริงได้ตราบใดที่ประชากรหลายล้านคนตกอยู่ในกับดักความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล โดยข้อมูลการสำรวจปี 2561 โดยกลุ่มธนาคารโลกชี้ว่าการให้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่จ่ายได้ยังคงเป็นความท้าทายของทุกประเทศไม่ว่ายากดีมีจน

ค่ารักษาพยาบาลเป็นภาระก้อนใหญ่ของผู้ป่วยและครอบครัว ประเมินว่าประชากรกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกต้องเจียดรายได้ครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 10 ไว้เป็นค่ารักษา และหลายครั้งก็ต้องเลือกว่าจะจ่ายเพื่อสุขภาพหรือสิ่งจำเป็นอื่นสำหรับครอบครัว เช่น อาหาร ค่าเทอมลูก หรือค่าเดินทาง และหากทั้ง 800 ล้านคนนี้อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันก็จะกลายเป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกทีเดียว 

ปัญหานี้เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ยากที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญเมื่อไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น  ทารกที่ไม่ได้รับวัคซีนและเสียชีวิตจากปอดอักเสบ เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการซึ่งส่งผลให้สติปัญญาและการเรียนรู้เสื่อมลงอย่างถาวร แม่วัยใสที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางครัน รวมถึงหญิงที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดแต่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา

การขาดแคลนบริการสุขภาพทำให้ทุนมนุษย์เสียเปล่า

ปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลไม่เพียงเป็นความอยุติธรรม หากยังทำให้ศักยภาพของบุคคลและทุนมนุษย์ของประเทศเสียเปล่า ทุนมนุษย์นั้นหมายถึงความรู้ ทักษะ และสุขภาพที่บุคคลสั่งสมมาชั่วชีวิต ซึ่งทำให้บุคคลตระหนักถึงศักยภาพของตนในฐานะสมาชิกที่มีส่วนร่วมในสังคม สุขภาพเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ  หากปราศจากสุขภาพที่ดีเด็กก็ไม่สามารถไปเรียนหนังสือ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีการศึกษาดีต่างหากที่เป็นทรัพยากรอันขาดไม่ได้สำหรับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

“ทางเดียวที่เราจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงทั่วโลกนั้นจำเป็นต้องแก้ไขตัวระบบเพื่อให้รัฐบาลและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนด้านสาธารณสุข” นายจิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลกกล่าว

การลงทุนด้านสาธารณสุขตั้งแต่ยังเด็กและสืบเนื่องถึงวัยชรา เป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งสำหรับการเติบโตและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของแต่ละประเทศ เราควรมองจำนวนปีสุขภาพดีที่เพิ่มขึ้นในฐานะเชื้อเพลิงที่จะขับดันให้เศรษฐกิจเติบโต  จึงเป็นเหตุผลที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมายรวมถึงการลงทุนตลอดทุกช่วงชีวิตของประชากร

แต่ละประเทศมีหนทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตนเอง ซึ่งกลุ่มธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนผ่านงบประมาณ  ความช่วยเหลือด้านนโยบายและเทคโนโลยี การสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและองค์ความรู้ ตลอดจนประสานความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีเป้าหมายร่วมกัน  หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มธนาคารโลกในการลงทุนด้านสาธารณสุข โภชนาการ และประชากร ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมามีตัวเลขการลงทุนราว 14,000 ล้านดอลลาร์

กลุ่มธนาคารโลกได้จัดตั้งโครงการทุนมนุษย์ (Human Capital Project) เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านประชากร และรับปากจะขยายการลงทุนในด้านที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาธารณสุข โครงการทุนมนุษย์ได้จัดอันดับประเทศตามทุนมนุษย์ที่คาดว่าเด็กเกิดใหม่จะมีเมื่ออายุ 18 ปีโดยประเมินตามการลงทุนด้านสาธารณสุขและการศึกษา ขณะเดียวก็แสดงตัวเลขคาดการณ์การสูญเสียรายได้จากปัญหาช่องว่างทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ โดยชี้ด้วยว่ารัฐบาลเป็นตัวจักรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนด้านทุนมนุษย์รวมถึงสาธารณสุข

แนวทางเร่งรัดความคืบหน้า

ถึงแม้ไม่มีกุญแจวิเศษที่จะนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 แต่ก็มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อที่จะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าดังนี้

1. เพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างคุ้มค่า

ภาคบริการสาธารณสุขประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก ประเมินว่าค่าบริการสุขภาพโดยเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ราว 90 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่ามี 71 ประเทศที่มีงบประมาณสาธารณสุขต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าว และ 41 ประเทศ (รวมประชากร 2,600 ล้านคน) มีงบประมาณจำกัดจำเขี่ยไม่ถึง 25 ดอลลาร์ต่อคนเท่านั้น   นอกจากนี้แต่ละประเทศยังต้องปรับปรุงการลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากต่างประเทศหรือองค์กรระดับโลกสามารถช่วยเติมเต็มและสนับสนุนการลงทุนด้านสาธารณสุขในระดับประเทศ

2. เน้นที่คุณภาพการบริการ

การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่สามารถจ่ายได้เพียงเท่านั้นยังไม่พอ การรักษาพยาบาลยังต้องมีคุณภาพสูงอีกด้วย    รายงานล่าสุดชี้ชัดว่าบริการรักษาพยาบาลคุณภาพต่ำเป็นตัวถ่วงการพัฒนาสาธารณสุขในทุกประเทศ ตัวอย่างเช่นการติดเชื้อระหว่างรักษาในโรงพยาบาลซึ่งพบได้ราวร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง และราวร้อยละ 10 ในประเทศรายได้สูง แต่อีกด้านหนึ่งก็เห็นคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เช่น อัตราการรอดชีพที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือด

3. ปกป้องทุกคนจากโรคระบาดใหญ่

จำนวนครั้งและความหลากหลายของโรคระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นจุดด้อยที่สุดของระบบสาธารณสุข ซึ่งประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการรักษาพยาบาลและทำให้โรคระบาดโดยไม่มีใครทราบ เราสามารถป้องกันโรคระบาดได้หากทุกคนได้รับการคุ้มครองจากการรักษาพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มธนาคารโลกเน้นการสนับสนุนให้แต่ละประเทศปรับปรุงการรักษาพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ผ่านระบบส่งเสริมการเฝ้าระวังโรคระบาดระดับภูมิภาค (Regional Disease Surveillance Systems Enhancement, REDISSE) และนำร่องการสนับสนุนงบประมาณสำหรับรับมือโรคระบาดผ่านโครงการสนับสนุนงบประมาณฉุกเฉินสำหรับการระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Financing Facility, PEF)

4. ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม

การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 ไม่สามารถอาศัยการดำเนินงานตามรูปแบบปกติ ประเทศที่ประสบความสำเร็จล้วนแต่นำนวัตกรรมเข้ามาปรับปรุงระบบสาธารณสุข รายงานของกลุ่มธนาคารโลกยกตัวอย่างรวันดาซึ่งพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อนำโดรนมาใช้ในการขนส่งเลือด อัฟกานิสถานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานนอกภาครัฐในท้องถิ่นเพื่อกระจายบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานซึ่งช่วยให้อัตราการรอดชีพของแม่และเด็ก ตลอดจนภาวะโภชนาการดีขึ้นแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรง การจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ช่วยให้รัฐบาลตุรกีปฏิรูปภาคสาธารณสุข และอีกด้านหนึ่งกองทุนสินเชื่อ Global Financing Facility (GFF) ได้ให้การสนับสนุนแผนงบประมาณด้านสาธารณสุขและโภชนาการสำหรับสตรีและเด็กแล้วใน 27 ประเทศ

5. สร้างแนวร่วม

การบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชน  ชุมชน และภาคสังคมเพื่อกดดันรัฐบาลให้ปรับปรุงบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี สามารถจ่ายได้และเข้าถึงได้   ประชาชนจะต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อระบบสุขภาพ ทั้งในแง่การออกแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงตรวจสอบการให้บริการเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง

หลายประเทศต่างแสดงความมุ่งมั่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อที่จะก้าวไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่การไปถึงเป้าหมายภายในปี 2573 จำเป็นต้องอาศัยความคืบหน้ามากกว่านี้ทั้งในแง่ความเป็นผู้นำ นโยบายและการลงทุนที่ถูกต้อง   รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะ “ไปให้ถึงเส้นชัยไว้ก่อน” และเข้าถึงประชาชนที่มีภาวะเปราะบางที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำโดยเร็วที่สุด

ขอบคุณที่มา แปลจาก

Lack of Health Care is a Waste of Human Capital: 5 Ways to Achieve Universal Health Coverage By 2030 (www.worldbank.org)