ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สมาชิกครอบครัว ลดลงจากร้อยละ 4.06 (หรือ 6.6 แสนครัวเรือนจากทั้งหมด 16.3 ล้านครัวเรือน) ในปี 2545 เหลือร้อยละ 2.09 (หรือ 4.4 แสนครัวเรือน จาก 21.4 ล้านครัวเรือน) ในปี 2560 ขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนลงภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จากร้อยละ 1.33 (หรือ 2.2 แสนครัวเรือน) ในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 0.29 (หรือ 6 หมื่นครัวเรือน) ในปี 2560

จากอดีตที่มีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยต้องขายทรัพย์สิน หรือเป็นหนี้สินกู้ยืมเงินถึงขั้นล้มละลายเพื่อรักษาตนเองหรือคนในครอบครัว จากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เงินรักษาต่อเนื่อง และกระทบความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัว ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้สร้างความมั่นคงของชีวิตให้กับหลายครอบครัว และยังก่อให้เกิดความมั่งคั่ง มีเงินเหลือพอใช้จ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้กับครอบครัว ทั้งด้านการศึกษา และการสร้างรายได้โดยไม่ต้องกังวลด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ