ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย ภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ลงนามความร่วมมือ “ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย” มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ บรรลุเป้า “ยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573” พร้อมแจงแนวทางบริการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทองปี 2562    

ที่ รร.เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ - เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และองค์กรภาคีและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตทุกแห่ง องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เอดส์ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเพื่อยุติการแพร่กระจายโรค ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90

ในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 3,046 ล้านบาท เป็นงบบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 200 ล้านบาท แต่การบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำมาสู่การลงนาม “ความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย”ครั้งนี้ เพื่อผนึกกำลังร่วมกันให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานระดับโลกเพื่อทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเองตามคำขวัญที่ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์”   

ส่วนการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานปีนี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน สะท้อนปัญหาและอุปสรรคสู่การปรับปรุงและพัฒนางานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมเชื่อมโยงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ สู่ความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573   

ด้าน นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใประเทศที่ประสบความสำเร็จการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์เอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ปี 2559 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 17 ราย ความสำเร็จนี้เป็นผลของความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ ได้กำหนดเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี

ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนโดยใช้กลไก “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อของตนเอง เพราะผู้ติดเชื้อระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและทราบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ดังนั้นการตรวจเร็วและรักษาเร็วจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการแพร่กระจายเชื้อและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในครั้งนี้ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573