ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สปสช.เขต 10 ถอดบทเรียน “ผลิตผลความร่วมมือ” ในระบบหลักประกันสุขภาพ จากการทำคลอด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ผลลัพธ์ 16 ปี ก่อกำเนิดเป็น Long-term care – กขป. – พชอ. เพื่อสร้างระบบที่เข้มแข็ง

นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “ผลิตผลความร่วมมือในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับพื้นที่” ภายใต้งานประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา เปรียบได้กับเพลง 16 ปีแห่งความหวังและความฝัน ซึ่งนับจากนั้นก็เกิดผลิตผลตามมาเรื่อยๆ จนถึงระบบสุขภาพมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก และทุกคนมาเป็นเจ้าของระบบสุขภาพอย่างแท้จริง แม้ว่าจะยังไม่ 100% ก็ตาม

นพ.เรืองศิลป์ กล่าวว่า ผลพวงที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากปี 2545 จนกระทั่งในปี 2549 เกิดกองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ซึ่งเป็นผลิตผลที่ทุกคนช่วยกันคิดเพื่อให้เกิดขึ้น และนับเป็นสิ่งที่ดีงามที่ให้ประชาชนกับท้องถิ่นเข้ามาเป็นเจ้าของกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยการเกิดขึ้นของกองทุนสุขภาพตำบลทำให้เราได้กัลยาณมิตรเพิ่มขึ้น เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ด้วย

ทั้งนี้ จากปี 2549 ที่มีการพัฒนาเรื่องเครือข่ายมากยิ่งขึ้น เรื่อยไปจนกระทั่งเกิดแนวคิดระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยจากแนวคิดที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นมานั้นส่งผลให้ขณะนี้มีสถาบันการศึกษาบางแห่งกำลังจะผลิต caregiver ที่มีองค์ความรู้ มีมาตรฐาน เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ปี 2559 ก็ได้เกิดคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ขึ้นมาอีก ซึ่งยิ่งชัดเจนว่าเป็นการทำงานร่วมกัน และในปี 2560 เกิดคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่กำลังจะกลายเป็นกลไกในการขับเคลื่อนในหลายประเด็น ซึ่งทางอำเภอก็ยินดีเนื่องจากมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน

“อย่างภาคประชาชนและภาคประชาสังคมก็มีบทบาทมากๆ เราเห็นความมุ่งมั่นของเอ็นจีโอ เมื่อก่อนเราอาจจะมองเอ็นจีโอในแง่ลบจนเกินไป แต่เมื่อเราทำงานร่วมกันจริงๆ ก็พบว่ามีทั้งลบทั้งบวก แต่แน่นอนว่าเราสร้างกัลยาณมิตรดีกว่าสร้างศัตรู อย่างเช่น ชมรมผู้ป่วยโรคไต เห็นชัดว่ามีผลงานค่อนข้างเยอะ ดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยมากมาย ทุกวันนี้เรามีพี่น้องภาคประชาชนมากขึ้น” นพ.เรืองศิลป์ กล่าว

นพ.เรืองศิลป์ กล่าวว่า อีกภาคส่วนที่ต้องพูดถึงคือโรงเรียนแพทย์ที่เป็นกัลยาณมิตรที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการรังสรรค์สร้างงานให้ระบบสุขภาพของเราเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็ง มีความรัก มีความผูกพัน และมีความศรัทธาร่วมกัน