ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากพูดถึงโมเดลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal healthcare) ที่มักถูกหยิบยกมาอ้างถึงบ่อยๆ ทั้งยังชี้ชวนให้เดินรอยตามคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสหราชอาณาจักรหรือเยอรมนี อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือ มีขีดความสามารถในการดึง 40-60% ของ GDP ทั้งประเทศทุ่มให้กับบริการสาธารณสุขได้ แน่นอนว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การนำโมเดลตามประเทศข้างต้นไปใช้นั้นดูเป็นอะไรที่ยากและเป็นไปแทบไม่ได้

ดังนั้น การหันมามองประเทศที่มีขีดความสามารถหรือพื้นฐานเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันจึงเหมาะสมกว่า – ไทยถูกเลือกให้เป็นแบบอย่างดังกล่าวคือ ข้อมูลจากสำนักข่าวอินเดีย Hindustantimes จากบทความ  ‘Thailand’s universal healthcare can be a model for developing countries’ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

เมื่อประเทศไทยใช้งบประมาณเพียง 4% จาก GDP ทั้งหมดกับบริการสาธารณสุขทั้งประเทศ

“ประเทศไทยนำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้เมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545) ส่งผลให้ประชาชนกว่า 50% สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หากเปรียบเทียบแล้วความสามารถของไทยเมื่อปี 2002 นั้นเท่ากับอินเดียในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางสุขภาพหรือฐานภาษี” Nachiket Mor และ Stefan Nachuk ผู้เขียนบทความดังกล่าวอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมเขาถึงมองเช่นนั้น

นอกจากนั้น ทั้ง 2 ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า สาเหตุที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากที่ว่าไทยรู้ มองเห็นและเข้าใจว่าตัวเองมีขีดจำกัดด้านทรัพยากร โดยเฉพาะงบประมาณและบุคลากร

เมื่อรู้เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ตามมานั้น สำหรับด้านเทคนิคและงบประมาณ ไทยได้ออกแบบนโยบายต่างๆ ให้ขนานไปกับข้อจำกัดดังกล่าวอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะผ่านโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) โดยนำทรัพยากรในระบบสุขภาพที่มีอย่างจำกัดมาพิจารณาเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีและนโยบายอย่างเหมาะสม หรือผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยระบบดังกล่าวได้ออกแบบให้ประชาชนนั้นต้องเข้ารับการบริการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ (Primary care provider) ก่อน ยกเว้นในกรณีจำเป็นที่ต้องส่งตัวมารักษาต่อในขั้นทุติยภูมิ (Secondary care) หรือขั้นตติยภูมิ (Tertiary care) ตามมา เช่น การถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลประจำภูมิภาคในที่สุด

“การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนสามารถลดรายจ่ายที่ไม่พึงประสงค์ เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพบริการสุขภาพที่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยอีกด้วย”

ด้านบุคลากร ไทยมีอัตราสัดส่วนระหว่างประชากรกับบุคลาการทางการแพทย์รวมถึงพยาบาลเรียกว่าสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นสิ่งที่ทางภาครัฐหรือผู้ออกแบบนโยบายแก้ไขในเบื้องต้น จึงเป็นการผลิตนักเรียนพยาบาลผ่านโรงเรียนพยาบาล โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรที่สามารถเข้าทำงานในสถานพยาบาลได้โดยมีหน้าที่เทียบเคียงกับพยาบาล ซึ่งทั้ง 2 มองว่าชาญฉลาดอย่างยิ่งในเชิงปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขจำกัดที่ไทยเผชิญอยู่

เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งคู่ยังเห็นพ้องตรงกันว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากที่ว่าผู้นำทางการเมืองหรือรัฐบาลในยุคดังกล่าว ผู้บุกเบิกหลักประกันสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการที่ประเทศมีบริการสาธารณสุขที่ดีและเข้าถึงง่าย ช่วยยกระดับชีวิตและคุณภาพของประชาชนได้อย่างไร สิ่งที่ตามมาจึงทำให้เหล่าคณะทำงานได้ง่ายขึ้น มีความมั่นใจในการตัดสินใจและดำเนินแนวทางต่างๆ ตามมา โดยผ่านการร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์ หน่วยงาน องค์กรหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ

ซึ่งผลกระทบจากทั้งหมดส่งผลให้ทุกวันนี้ระบบบริการสุขภาพไทยเปลี่ยนไปอย่างรอบด้าน

“อย่างไรก็ดี การนำโมเดลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมาปรับใช้ (อินเดีย) จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งยังมีกรณีศึกษาอีกหลายอย่างของพวกเขา (ไทย) ที่สร้างคุณค่าจนทุกวันนี้” Nachiket Mor และ Stefan Nachuk กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา: ‘Thailand’s universal healthcare can be a model for developing countries’ by Nachiket Mor and Stefan Nachuk