ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลูกรัก ... แม่รู้สึกผิดทุกครั้งที่ต้องเห็นลูกป่วย หากย้อนเวลากลับไปได้ แม่จะไม่ยอมปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับลูกอย่างแน่นอน

​หิวไหมจ๊ะ ... ในวันแรกที่ลูกต้องออกมาเผชิญโลกใบนี้ด้วยตัวของลูกเอง ลูกรู้สึกหิวไหม 

ทุกครั้งที่แม่เดินไปหาลูกที่ห้องเด็กแรกเกิด ลูกจะนอนหลับตาพริ้มอยู่ข้างๆ เพื่อนของลูก ในตอนนั้นแม่คิดแต่เพียงว่า อยากให้ลูกรักได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะหลังจากนี้ลูกคงต้องเหนื่อยอีกมากในการใช้ชีวิต

แม่ไม่ปลุกลูกหรอก แม่ไม่ได้ต้องการจะรบกวนลูกของแม่ เหตุผลเดียวที่แม่เดินมาหาลูกก็เพราะกลัวว่าลูกจะหิว แต่พยาบาลคนสวยก็บอกกับแม่ในทุกๆ ครั้งว่าลูกอิ่มแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง

เพื่อที่แม่จะได้พักฟื้นร่ายกายหลังคลอด และเพื่อที่ลูกของแม่จะได้ไม่ต้องงอแงรอว่าเมื่อไรแม่จะมา พยาบาลคนสวยจึงบอกกับแม่ว่าจะชงนมผงให้ลูกของแม่กิน

​เธอบอกว่า นมผงสมัยนี้มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารและวิตามินจำนวนมาก สามารถใช้ทดแทนนมของแม่ได้สบายๆ

แต่นั่นมันก็ผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว แม่จำไม่ได้หรอกว่าทำไมแม่ถึงเชื่อพยาบาลคนนั้น อาจเป็นเพราะแม่รู้สึกผิดที่น้ำนมของตัวเองยังไม่มา แม่จึงคิดว่านมผงคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับลูก

แต่เรื่องหนึ่งที่แม่จำได้ไม่มีวันลืม คือในทันทีที่แม่พาลูกกลับมาถึงบ้านของเรา แม่ลองจับลูกเข้าเต้าปรากฏว่าน้ำนมก็มาในวันนั้น

1

แม่มารู้ทีหลังว่าเป็นเพราะตัวลูกเองที่ช่วยดูดกระตุ้นเต้า น้ำนมจึงไหลออกมา นั่นถือว่ายังโชคดีเหลืออยู่บ้างแม้ว่าลูกจะไม่ได้กินนมแม่ตั้งแต่วันแรกที่คลอดก็ตาม

แม่เพิ่งรู้ว่านมของแม่คือสิ่งความมหัศจรรย์ ... เฉพาะ 1-2 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น ที่นมจะเป็นสีเหลือง เขาเรียกว่า “หัวน้ำนม” ซึ่งถือเป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิตลูก ในหัวน้ำนมมีภูมิคุ้มกันโรคสูงมาก มีสารอาหารสารพัด ช่วยลดอาการผิดปกติในตัวลูก

แต่ลูกไม่ได้รับมัน นี่คือเรื่องที่ทำให้แม่รู้สึกผิดมาตลอด ...

​...​

คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงเป็นสิ่งที่ผิด แต่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่สามารถใช้แทนที่นมแม่ได้

ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ที่เปิดเผยในงานรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "Step up for Breastfeeding, Educate and Support: เสริมพลัง สร้างความรู้ ก้าวสู่วิถีนมแม่" เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565

สาธิต ระบุว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2562 พบว่า มีทารกเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น มีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี ด้วยเหตุนี้ สธ. จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 เดือน และควรให้กินต่อเนื่องถึง 2 ปี หรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ว่ากันตามข้อเท็จจริง หนึ่งในอุปสรรคที่สกัดกั้นไม่ให้การขับเคลื่อนนโยบายไปถึงเป้าหมายที่ผ่านมา คือการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผง ที่ทำให้แม่จำนวนหนึ่งต้องล้มเลิกการให้นมบุตร

ที่ผ่านมาอิทธิพลของการโฆษณาและกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจนมผงรุกหนักในทุกช่องทางการสื่อสาร ตั้งแต่หน้าจอโทรทัศน์ไปจนถึงในห้องพักฟื้นหลังคลอดในโรงพยาบาล มีการลดแลกแจกแถม สร้างค่านิยมเรื่องความทันสมัยและความสะดวกสบาย ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง

2

หนึ่งในความกังวลที่ส่อเคล้าจะบานปลายคือการส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการ “แจกนมผงฟรี” ซึ่งหากแม่หลวมตัวรับตัวอย่างสินค้ากลับไปทดลองใช้ มีความเป็นไปได้สูงที่ลูกน้อยจะต้องหย่าขาดน้ำนมแม่ แล้วหันไปกินนมผงไปตลอดชีวิต

นั่นเท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่ลูกน้อยจะได้รับนมแม่ ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในครอบครัว และนั่นหมายถึงผลกำไรของอุตสาหกรรมนมผงนั่นเอง

เป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยได้รณรงค์และพยายามสร้างมาตรการควบคุมโฆษณานมผง แต่ก็พานพบกับอุปสรรคนานัปการ อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วความอุตสาหะเหล่านั้นได้ออกดอกออกผล

รูปธรรมความสำเร็จที่นำไปสู่มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในระยะยาว ก็คือการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.บ.มิลค์โค้ด” ขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2560 เป็นต้นมา

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.มิลค์โค้ด คือการควบคุมผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ห้ามมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทโดยเด็ดขาด ได้แก่ 1. อาหารสำหรับทารก (แรกเกิดถึง 12 เดือน) 2. อาหารเสริมสำหรับทารก (อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป) และ 3. อาหารสำหรับเด็กเล็ก (อายุ 1-3 ปี)