ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิฯ เผย 16 ปี สปสช.เน้นงานคุ้มครองสิทธิ สร้างกลไกรับเรื่องร้องเรียน พร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งสายด่วน สปสช. 1330 ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ดูแลประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทอง พร้อมปรับปรุงและพัฒนาระบบต่อเนื่อง   

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ภายใต้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” โดย สปสช. ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญต่องานคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วมมาอย่างต่เนื่อง เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ควบคู่กับการพัฒนาระบบและสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้อย่างชัดเจน จากแต่เดิมเป็นเพียงการสงเคราะห์และช่วยเหลือ ทั้งยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 5 ที่ระบุไว้ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด

ทั้งนี้ในการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเป็นระบบควบคุมค่าใช้จ่ายที่ใช้วิธีเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับระบบประกันสังคม แม้ว่าจะเป็นระบบที่ดีและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ แต่ในการบริหารซึ่งดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ จำเป็นต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อถ่วงดุลและให้เกิดการคุ้มครองสิทธิประชาชน ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงมีองค์ประกอบดังนี้ 1.ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธาน 2.ตัวแทนวิชาชีพด้านการแพทย์ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ 4.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5.ผู้แทนภาคประชาชน โดยเป็นโครงสร้างเดียวกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน

นพ.วิชัย กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งสายด่วน สปสช. 1330 บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงษ์ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการ สปสช.คนแรกได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและรับฟังความเห็นต่างๆ ทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทำให้ให้สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว โดยข้อมูลที่ได้รับเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลไกต่างๆ ที่เป็นช่องทางในการคุ้มครองสิทธิเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิยิ่งขึ้น อาทิ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ซึ่งกลไกเหล่านี้ได้มีการกำกับและติดตามโดยอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม

“ด้วยกลไกลการคุ้มครองสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นแล้ว ยังนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนสามารถสร้างครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย ทั้งโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น จนเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชน ไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามสายด่วน สปสช. 1330” ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม กล่าว