ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สวัสดิการผ้าอนามัยฟรี” นับว่าเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีวี่แววได้ข้อยุติในสังคมมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ “สตรีสากล” ที่ผ่านมา (8 มี.ค. 2565) ประเด็นนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง ผ่านการจัดนิทรรศการ “นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” ที่จัดโดยพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงภายในงานยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐในการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้แก่ผู้หญิงไทยทุกคนอีกด้วย

ข้อมูลจากนิทรรศการดังกล่าว ระบุว่า หากประเมินจากสัดส่วนอายุผู้หญิง ระหว่าง 10-50 ปี นั้นประมาณ 18.9 ล้านคน และข้อมูลจากตลาดผ้าอนามัยที่มียอดขายสินค้าประมาณ 140 ล้านชิ้นต่อเดือน หากเฉลี่ยแล้วหนึ่งคนจะใช้ผ้าอนามัย 7.41 แผ่นต่อเดือน

ทว่า จำนวนผ้าอนามัยที่ควรใช้จริงเฉลี่ยอยู่ที่ 21 แผ่นต่อเดือน นั่นหมายถึงผู้หญิงไทยเข้าถึงผ้าอนามัยเพียง 35.28%

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า สวัสดิการผ้าอนามัยดูจะมีความสำคัญต่อผู้หญิงในประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องสุขภาวะทางเพศยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แฝงตัวอยู่ด้วย

“The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ จิตติมา ภาณุเดชะ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ฟ้าใส เชี่ยวบางยาง นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากกลุ่ม SCORA – คณะกรรมการสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์รวมทั้งโรคติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ เพื่อให้ความเห็นและขยายมุมมองในประเด็นเรื่องรัฐควรมีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้ผู้หญิงทุกคน

‘ประจำเดือน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

จิตติมา บอกว่า ข้อเสนอนโยบายในครั้งนี้ที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าเป็นการเอาข้อถกเถียงในทางสาธารณะมาปรับปรุงจากฐานข้อมูลและองค์ความรู้จนนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายชัดเจน ซึ่งส่วนนี้คิดว่าเป็นความก้าวหน้า เพราะนำไปสู่การให้สังคมตระหนักถึงประเด็นเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ได้อย่างครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“นโยบายสุขภาพที่ผ่านมามุ่งเน้นออกแบบระบบสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคเป็นสำคัญ ดังนั้นจะเน้นเรื่องควบคุมมากกว่า ซึ่งหากมองมิติทางสุขภาพลึกลงมาในแง่ของความเป็นมนุษย์ และความเฉพาะของแต่ละคน คำนึงถึงเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคม จะทำให้เห็นระบบสุขภาพกว้างครอบคลุมคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น” จิตติมา ระบุ

อย่างไรก็ดี หากสวัสดิการนี้เกิดขึ้น ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกคือจะเป็นการทำให้สังคมเห็นและเชื่อร่วมกันว่าประจำเดือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีมุมมองเชิงบวกในการดูแลร่างกายตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันโรค

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังรณรงค์ให้ประชาชนมาตรวจมะเร็งปากมดลูก แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้คนไม่กล้าไปตรวจคือ ความกลัวและความอาย หากผู้หญิงมีความรู้ความเข้าใจที่เริ่มจากประจำเดือนของตัวเองก็จะทำให้ผู้หญิงเริ่มเปิดรับที่จะดูแลตัวเองมากขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นของ จะเด็จ ที่มองว่าการผลักดันผ่านนโยบายที่มีการกล่าวถึงในนิทรรศการจะยิ่งเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าสามารถทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงได้ ก็จะทำให้ผู้หญิงในประเทศไทยสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ที่มีฐานะยากจนค่อนข้างลำบากในการจัดหาสิ่งเหล่านี้มาใช้ ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาทางสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงตามมา

“ปัจจุบันการที่ความคิดเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยถูกผลักดันจนเป็นระดับนโยบายของพรรคการเมืองได้ ส่วนตัวมองว่าด้านหนึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมด้วย รวมถึงสอดรับกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวและตระหนักถึงเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมควรตอบรับและเรียนรู้รวมถึงสนับสนุนต่อไป” จะเด็จ กล่าว

จะเด็จ บอกอีกว่า รัฐมักมองเรื่องการมีประจำเดือน การลาคลอดของผู้หญิง ฯลฯ เป็นหน้าที่ทางธรรมชาติของผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง สังคมจะมีส่วนรับผิดชอบได้อย่างไร รวมถึงเป็นเรื่องการกดทับทางความคิดของระบบชายเป็นใหญ่ เช่น การมีความคิดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องสกปรก คนเป็นประจำเดือนไม่ควรเข้าวัด ซึ่งระบบความคิดแบบนี้กำลังครอบสังคมอยู่ จึงนำไปสู่การวางนโยบายของรัฐที่ไม่สนใจประเด็นตรงนี้

 “สำหรับคนที่คิดว่าสวัสดิการตรงนี้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเกินไปหรือเปล่า ต้องไม่ลืมว่าในประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนกว่า 33 ล้านคน และในจำนวนนี้ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มีหลายล้านคน ดังนั้นต้องยอมรับว่าผู้หญิงซึ่งมีส่วนในการพัฒนาประเทศควรมีสวัสดิการในสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้หรือเปล่า” จะเด็จ กล่าวเสริม

สิ่งจำเป็นต่อสุขอนามัยเจริญพันธุ์

ฟ้าใส อธิบายว่า ด้วยความรู้ความเข้าใจของคนยุคสมัยหนึ่งอาจไม่ได้เข้าใจว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นขนาดนั้นในการจะร่างเป็นกฎหมาย ที่เทียบกับยาคุม หรือถุงยางมักมีการแจกอยู่เสมอๆ เพราะว่าสามารถเชื่อมโยงต่อในประเด็นด้านประชากรองค์รวมของประเทศได้ชัดเจนกว่า อีกทั้งยังส่งผลต่อทั้งเพศหญิง และชาย

“ความเป็นจริงทั้งสามสิ่งต่างเป็นของใช้ที่มีความจำเป็น และสำคัญต่อสุขอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงเป็นภาระทางการเงินของผู้รายได้น้อย แต่สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างผ้าอนามัยกับอีกสองสิ่งคือ ผ้าอนามัยมีความจำเป็นต่อผู้มีประจำเดือนทุกกลุ่มในการรักษาสุขอนามัยสำหรับกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้

“เรื่องผ้าอนามัยนอกจากจะเป็นภาระทางสุขภาพยังเป็นภาระทางการเงินอีกด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจดูไม่มากในคนที่มีฐานะหรือสามารถรองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ แต่กลุ่มคนเปราะบางรวมถึงคนที่ไม่มีรายได้ เช่น คนไร้บ้านหรือนักเรียน นักศึกษา บางคนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัย บางคนใช้ผ้าอนามัยน้อยแผ่นต่อวันทำให้เสียสุขอนามัยทางช่องคลอด มันสะท้อนมิติที่มากกว่าสุขภาพ แต่คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านรายได้” ตัวแทนจากกลุ่ม SCORA ระบุ

ฟ้าใส กล่าวว่า ค่อนข้างรู้สึกดีใจที่มีพรรคการเมืองผลักดันในเรื่องนี้จนมีข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรค เพราะว่ามีส่วนสนับสนุนให้ประเด็นถูกพูดถึงมากขึ้นหลังจากมีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมมาเป็นระยะเวลานาน

“เราคาดหวังให้มีการสื่อสารกับประชาชนให้มากกว่านี้ หรือว่ามีการโปรโมทและติดต่อกับเครือข่ายหรือกลุ่มคนในการช่วยกระจายการรับรู้ เพราะนอกจากการส่งเสริมเรื่องการแก้กฎหมายแล้ว ควรต้องมีการแก้ทัศนคติของคนในสังคมด้วย เพราะการให้ความรู้เป็นรากฐานของความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด” ฟ้าใส ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ กลุ่ม SCORA – คณะกรรมการสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์รวมทั้งโรคติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ภายใต้สมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (IFMSA) ที่ผ่านมาได้เคลื่อนไหวเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี และรณรงค์การยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ผ่านโครงการ #DontBleedMyPurse เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมผลักดันผ่านสื่อสังคมออนไลน์กว่า 1,000 คน และการเข้าถึงโครงการกว่า 8 ล้านครั้ง

เสนอจัดสรรให้กลุ่มประชากรเฉพาะ-เปราะบางทางรายได้

ผศ.นพ.ธนพันธ์ มองว่า หากรัฐจะมีนโยบายสวัสดิการผ้าอนามัยต้องไม่ใช่สำหรับทุกคน ควรจะต้องจัดสรรให้กับคนที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือและไม่มีความสามารถในการเข้าถึง เช่น นักเรียน เนื่องจากแต่ละคนสามารถใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ไม่เท่ากันตามความเหมาะสมของตนเอง ไม่งั้นรัฐต้องใช้งบกันส่วนนี้เยอะเกินไป

“ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่รัฐจะมาแจกของส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็น ถุงยางอนามัย ยาคุม หรือผ้าอนามัย แต่คิดว่ารัฐควรจะเข้ามาควบคุมราคา หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าที่ทำให้ราคาผ้าอนามัยทั้งระบบที่มีอยู่ถูกลง เพราะผ้าอนามัยควรเป็นสินค้าที่คนต้องเอื้อมถึง

“ประเด็นคือรัฐควรมีการบริการในบางจุดสำหรับกรณีฉุกเฉินของประจำเดือน เพราะผู้หญิงแต่ละคนประจำเดือนมาไม่เหมือนกัน เช่น ห้องน้ำโรงเรียน สนามกีฬา ฯลฯ” ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าว

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ให้เหตุผลเสริมว่า การไม่ได้ใช้ผ้าอนามัย หรือไม่ได้เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชม. ไม่ได้เสี่ยงทำให้เกิดโรค เพราะประจำเดือนเป็นเลือดที่เกิดในโพรงมดลูกและไหลออกผ่านช่องคลอด อีกทั้งประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย รวมถึงผ้าอนามัยที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะถูกใส่ไว้ด้านนอกอวัยวะเพศเพื่อรองรับเลือด ส่วนเชื้อราจะเกิดได้จากการทำความสะอาดไม่ดี สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันดีและทำความสะอาดอย่างดีไม่ปล่อยให้เกิดการอับชื้นในทางหลักการไม่สามารถเกิดเชื้อราได้

ยกเว้นกรณีผ้าอนามัยแบบสอดที่หากไม่เปลี่ยนจะเกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ รวมถึงคนที่มีโรคซึ่งสามารถติดเชื้อได้ผ่านเลือด เช่น HIV ซึ่งมีความอันตรายทั้งกับตนเองและกับคนอื่น ส่วนการใช้อาจจะมีเกิดอาการแพ้จากสารเคมีบ้างในบางกรณี เพราะสารเหล่านี้ก่อนจะถูกนำมาใช้ทางบริษัทจะต้องทำกระบวนการทดสอบก่อนอยู่แล้ว

“ปัญหาเพียงอย่างเดียวของผ้าอนามัยในขณะนี้คือการเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งแน่นอนว่าก็มีการผลิตผ้าอนามัยเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ออกมาอยู่เสมอ แต่ราคาจะค่อนข้างสูง” ผศ.นพ.ธนพันธ์ ระบุ