ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทร โมที เตรียมประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ชาวอินเดียเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น หากร่างกฎหมายโมทีแคร์ 'Modicare' นี้ผ่าน จะทำให้โครงการหลักประกันสุขภาพของอินเดียใหญ่สุดในโลก โดยรัฐบาลกลางสมทบ 60% อีก 40% มาจากท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 www.firstpost.com ของประเทศอินเดียรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของโครงการหลักประกันสุขภาพของประเทศอินเดีย ภายใต้ชื่อ “Ayushman Bharat” หรือ Ayushman Bharat -National Health Protection Scheme (AB-NHPM) โดยระบุว่า 'Modicare' หรือสวัสดิการสุขภาพนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มคนจนในอินเดียต้องการมากที่สุด โครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีเกินกว่าที่จะเกิดขึ้นได้จริงสำหรับคนจนในอินเดีย นอกจากอุปสรรคในทางปฏิบัติแล้ว ก็ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลย แต่โครงการนี้จะเป็นเดิมพันสูงมาก ทั้งกับพรรคบีเจพี (Bharatiya Janata Party (BJP) และพรรคคองเกรส (Congress party) ในการเลือกตั้ง ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ.2562) และที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ โอกาสที่เกือบครึ่งหนึ่งของประชากร โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มคนจนจะได้รับบริการทางการแพทย์ฟรีนั้น ถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ ดังนั้นเรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางการเมือง จึงไม่ควรจะเป็นเหตุผลในการไม่ผ่านร่างโครงการนี้

ถ้ารัฐบาลของนายนเรนทร โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ผ่านร่าง “Modicare” (ซึ่งป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยสื่อมวลชน) ภายในวันที่ 25 กันยายน 2561 นี้ ก็จะกลายเป็นโครงการทางสังคมที่ใหญ่มากกว่าโครงการใด ๆ ที่รัฐบาลนี้เคยทำมา รัฐบาลพันธมิตรฝ่ายซ้าย (The United Progressive Alliance, UPA-government) ในช่วงที่นายมานโมฮัน ซิงห์ (Manmohan Singh) เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พยายามที่จะเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน โดยได้เริ่มต้นหารือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ แต่เนื่องจากอุปสรรคในการปฏิบัติ จึงทำให้เป็นแค่โครงการในกระดาษเท่านั้น  นอกจากนี้ก็ยังมีการดำเนินโครงการที่คล้าย ๆ กันนี้ขนาดเล็กในระดับพื้นที่ เช่น โครงการ Rashtriya Swasthya Bima Yojana (RSBY) ที่เริ่มต้นด้วยอัตรา 30,000 รูปีต่อคน และมีการเปลี่ยนชื่อโครงการมาแล้วหลายชื่อ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้สูงสุดถึง 1 แสนรูปี   

และในอดีตก็ยังมีอีกหลายรัฐ ก็มีโครงการคล้าย ๆ กันนี้ เช่น โครงการ Aarograshri ในรัฐอานธรประเทศ Andhra Pradesh) เมือง Vajpayee Arogyashree ในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka), โครงการ Bhamashah Swasthya Bima Yojana ในรัฐราชสถาน (Rajasthan, โครงการ Mahatma Jyotiba Phule Jan Arogya Yojana (MJPJAY) ในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และโครงการ Deen Dayal Swasthya Seva Yojana ในรัฐกัว (Goa)

โดยล่าสุดรัฐบาลเมืองโอริสสา (Odisha) ได้นำเสนอโครงการด้านสุขภาพ ที่คล้ายกับโครงการ Ayushman Bharat และนอกจากนี้ ถ้าจะมีการดำเนินโครงการทั้งประเทศ นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที (Narendra Modi) ได้สัญญาว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รัฐบาลจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลฟรีให้สูงถึง 5 แสนรูปี ให้กับประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ (500 ล้านคน) อย่างที่ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน จะเป็นเสมือนฝันที่กลายเป็นความจริงสำหรับประชาชนทั่วไปในอินเดีย ทั้งนี้ก็เพราะว่า ประมาณร้อยละ 70-80 ของชาวอินเดีย (ไม่ว่าจะเป็นโครงการในระดับรัฐ และ ระดับประเทศ) ไม่สามารถจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ เนื่องจากส่วนใหญ่มีรายได้ต่อปีเพียงแค่ 2-3 แสนรูปี เท่านั้น  

ปัจจุบันถึงแม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่มีอัตราราคาที่สามารถซื้อหาได้ถูกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศอื่น ๆ เช่น ปากีสถานและอินโดนีเซียแล้วก็ตาม แต่พบว่ายังคงเป็นราคาที่กลุ่มคนจนซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่สามารถจ่ายได้   

จากการศึกษาภาระโรคที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ อินเดียถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพบริการและการเข้าถึงบริการสุขภาพอันดับ 145 จากทั้งหมด 195 ของประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่แย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง จีน บังคลาเทศ ศรีลังกา และ ภูฐาน นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของงบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนบริการสุขภาพฟรีสำหรับประชาชนต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ  

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ซึ่งขอไม่เปิดเผยตัวตน ให้ความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการสำหรับการจัดบริการสาธารณสุข ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรบุคคลจะอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 แสนล้านรูปี 

สำหรับประเทศที่มีการใช้เงินภาษีปริมาณมากไปกับโครงการของภาครัฐ ที่ขาดทุน จากการโกงหรือการบริหารที่ไม่ดี เรื่องเงินจึงไม่ควรจะเป็นเหตุผลในการยกเลิกโครงการปฏิรูปที่จะเกิดประโยชน์แก่กลุ่มคนจนส่วนใหญ่ในอินเดีย   

แน่นอนว่า ต้นทุนสำหรับการเสนอโครงการ Ayushman Bharat นับเป็นอุปสรรคหลักในเส้นทางการดำเนินงาน  งบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับโครงการที่มีอยู่แล้วของรัฐบาล จำนวน 2 หมื่นล้านรูปีนั้น ยังถือว่าน้อยมาก จำเป็นต้องหาเงินจำนวนมากเข้ามาเติม แต่ก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้ เพราะ ทั้ง 21 รัฐต่างก็มีการลงนามในโครงการแล้ว และหลาย ๆ รัฐก็มีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว รัฐบาลกลางจำเป็นต้องจ่ายเพียงร้อยละ 60 ของรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น โดยส่วนที่เหลือเป็นการจ่ายสมทบโดยรัฐบาลท้องถิ่น จากคำกล่าวอ้างของผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาข้างต้น ถ้าตัวแบบที่ออกแบบไว้ใช้ได้ อัตราค่าธรรมเนียมต่อครอบครัว จะสามารถลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3,000 - 4,000 รูปีต่อครอบครัว

ปัจจุบัน อัตราค่าธรรมเนียมเฉลี่ยต่อปีที่ผู้บริโภคต้องจ่าย สำหรับโครงการประกันสุขภาพเอกชน ที่มีชุดสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ประมาณ  10,000 รูปีต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูง ถ้ามีการเตรียมให้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐพร้อมสำหรับการให้บริการหลัก ร่วมกับการสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการ Ayushman Bharat ก็จะกลายเป็นระบบที่กลุ่มคนจนสามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในตลาดประกันสุขภาพ ที่จะบังคับให้บริษัทประกัน แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ ต้องคิดที่จะลดค่าเบี้ยประกันลงเพื่อแข่งกับโครงการของภาครัฐ   

แต่นอกจากการเริ่มต้นอย่างกระตือรือร้นแล้ว ยังมีความท้าทาย 4 ประเด็นหลัก ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญกับการเสนอโครงการ Ayushman Bharat ได้แก่

1.“การระบุประชาชนผู้มีสิทธิ” ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญมาก เพราะต้องมั่นใจว่าประชาชนที่มีความจำเป็นจะสามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการสร้างระบบที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการประเมิน ซึ่งสำคัญมาก ๆ เพราะมาตรฐานที่รัฐบาลใช้อยู่นั้น เป็นข้อมูลสัมมะโนปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) ที่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว สำหรับใช้ระบุกลุ่มรายได้ที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการฉ้อโกงจากการใช้เอกสารปลอมเพื่อขอเบิกเงินประกันที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจนทำให้ไม่สามารถตรวจจับได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญในช่วงเริ่มต้นโครงการ    

2.การสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพบริการของโรงพยาบาลให้บริการแก่ผู้ป่วย ก็มีความสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยการหมั่นกำกับและประเมินผลการดำเนินงานที่เหมาะสม กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายต้องมีการมอบหมายตัวแทนสำหรับการกำกับติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงพยาบาลให้การรักษาที่เหมาะสมกับกลุ่มคนจน และไม่เรียกเก็บเงินประกันเพิ่มเติมเพื่อคุณภาพบริการที่ดีกว่า   

3.รัฐบาลต้องมั่นใจว่าการเริ่มโครงการนี้ จะไม่ไปทำลายระบบประกันของรัฐบาลท้องถิ่น โดยปัจจุบัน New India Assurance คือหน่วยงานชั้นนำของรัฐเพียงหน่วยงานเดียวที่ให้บริการประกันสุขภาพ

4.รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งที่ไม่เต็มใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเกรงว่าจะสูญเสียคะแนนเสียงทางการเมือง ในกรณีนี้เพื่อให้มีมติร่วมกัน รัฐบาลกลางสามารถยินยอมให้ใช้ชื่อโครงการร่วม ที่ให้มีชื่อของรัฐบาลท้องถิ่นร่วมด้วยได้ และเหนือสิ่งอื่นใด ในการคำนวณส่วนแบ่งค่าใช้จ่าย รัฐบาลท้องถิ่นที่ได้มีการดำเนินโครงการคล้าย ๆ กันนี้ ก็จะมีสูตรคำนวณสำหรับการกำหนดให้ได้รับส่วนแบ่งจากรัฐบาลกลางด้วย การทำประชาพิจารณ์ทางการเมืองระดับประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อมีการดำเนินโครงการ Ayushman Bharat ทั่วประเทศ ก็อาจจะเกิด a fiscal shock หรือความเสี่ยงนโยบายทางการคลังที่รัฐบาลต้องจัดการ ซึ่งจะทำให้มีการแอบอ้างทางการเมืองทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน แต่ถ้าไม่มองอุปสรรคทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแล้ว กลุ่มคนจนในอินเดียมีความต้องการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการภายใต้ชื่อของ “Modicare” ซึ่งเป็นชื่อของนายนเรนทร โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย หรือ “Gandhicare” (นาย Rahul Gandhi ประธานรัฐสภาแห่งชาติ) ก็ตาม

แปลจาก Ayushman Bharat: Forget the politics and economics of it, India’s poor need 'Modicare' badly www.firstpost.com โดย Dinesh Unnikrishnan