ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพพระสงฆ์ ตามธรรมนูญสุขภาพสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่เปรียบเสมือนกรอบ และแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ภายใต้เจตจำนงและพันธะร่วมกันของคณะสงฆ์ ชุมชน สังคม รวมไปถึงหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

จังหวัดนครพนม นับว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์อย่างจริงจัง และยังเป็น “ต้นแบบ” ด้านการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระภิกษุและสามเณรในระดับตำบล และมุ่งสร้างการมีส่วนร่วม บนเป้าหมายที่ว่า พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข โดยมี พระเดชพระคุณพระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาคที่ 10 และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร จ.นครพนม เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน

หนึ่งในนั้นคือ การจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค NCDs ให้พระภิกษุและสามเณร โดยใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับตำบลหรือพื้นที่ (กองทุน กปท.) รวมไปถึงการมีส่วนร่วมจากผู้ที่ข้อง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

“The Coverage” พูดคุยกับ พระครูศรีธรรมากร วัดห้วยไหล่ ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม และ พระปลัดจะตุพล สิริปญฺโญ วัดโพนสวรรค์ ต.ยอดชาด อ.วังยาง จ.นครพนม ถึงโครงการดังกล่าวที่มีส่วนช่วยให้พระสงฆ์ “ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ” มากยิ่งขึ้น

“พระจะเชื่อฟังหมอเมื่อมี รพ.สต. เป็นกลไกหลัก

พระครูศรีธรรมกร เล่าว่า เป็นผู้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพพระภิกษุและสามเณรในระดับตำบล โดยจะมี รพ.สต.มหาชัย เข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด วัดความดัน หรือการตรวจเบาหวาน ซึ่งเมื่อผลออกมาก็พบว่า ไม่มีพระสงฆ์ในวัดห้วยไหล่ที่ป่วย

“ที่ไม่มีพระป่วยก็อาจจะเป็นเพราะว่า พระส่วนมากในวัดห้วยไหล่เป็นพระหนุ่ม ส่วนพระที่สูบบุหรี่ ก็เลิกสูบ หลังจากที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ... อาตมาเองเป็นพระนักสื่อสาร เป็นพระวิทยากรรณรงค์ป้องการสูบบุหรี่ในเยาวชน และเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

พระครูศรีธรรมกร ขยายความว่า จากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ทราบว่ามีพระวัดอื่นๆ ในตำบลที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งทาง รพ.สต. ก็ได้นำแพทย์ พยาบาลเข้ามาวัดความดัน ตรวจเลือด และได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เช่น เมื่อป่วยเป็นโรคนี้ พระสงฆ์ควรจะต้องฉันหรือหลีกเลี่ยงอาหารอะไร

คำแนะนำจากหมอมีอิทธิพล พระก็จะเชื่อ ท่านก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น เกิดผลในทางปฏิบัติ

พระครูศรีธรรมกร อธิบายถึงการขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ในระดับตำบลนี้ว่า โครงการนี้เชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 เป็นไปตามมติของมหาเถรสมาคม เรื่องการดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ มากไปกว่านั้นโครงการดังกล่าวนี้ยังได้เชื่อมโยงกับ กองทุน กปท. อีกด้วย

มีการร่วมจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ล่าสุดก่อนขึ้นปีงบประมาณก็มีการประชุมที่ อบต. ซึ่งโครงการขับเคลื่อนสุขภาพสงฆ์ก็อยู่ในธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ ตำบลมหาชัย เป็นตำบลนำร่อง ของ อ.ปลาปาก อาตมาเองก็เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย ก็ยินดีในส่วนที่จะขับเคลื่อนสุขภาวะสงฆ์

พระปลัดจะตุพล เล่าว่า เป็นผู้เข้าร่วมโครงการนี้เช่นเดียวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. ยอดชาด เข้ามาเจาะเลือด ตรวจคัดกรอง ซึ่งผลก็ออกมาปกติ จะมีเพียงพระเจ้าอาวาสเท่านั้นที่พบว่าท่านเป็นความดัน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวเยอะ และมีประวัติว่าป่วยเป็นโรคไตอยู่แล้ว

“รพ.สต. เขาก็นัดก่อนว่าไม่ให้ฉันอะไร แจ้งมาก่อน เข้ามาเจาะเลือด ดูแลสุขภาวะ ดูแลเรื่องห้องน้ำ เอายามาให้ ไม่ใช่แค่ตรวจโรค แต่ดูแลไปถึงสุขภาพรอบๆ มาฆ่ายุงให้ เอายามาใส่ในห้องน้ำ ส่วนการเช็กสุขภาพเขาก็จะนัดเราก่อน

พระปลัดจะตุพล อธิบายต่อไปว่า พระสงฆ์ในวัดโพนสวรรค์ให้ความร่วมมือดีมาก ไม่ว่า รพ.สต. อยากได้ข้อมูลอะไรพระสงฆ์เองก็ยินดีที่จะตอบ ซึ่งทาง รพ.สต. เองก็ได้บอกว่าหากพระสงฆ์ป่วยไม่ว่าจะด้วยโรคใดก็ตาม สามารถประสานงานมาได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ-ปรึกษา

เมื่อทราบว่ามีพระป่วย รพ.สต. เองก็จะมีการอบรม แนะนำโดยยกปัญหาโรคที่พบเจอใจวัด มา ให้ข้อมูล หากมีปัญหาก็จะมีการส่งต่อตามสิทธิการรักษาที่มี

ถวายถูกหลักโภชนา-พระสงฆ์พิจารณาก่อนฉัน

นอกเหนือไปกว่าการขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์แล้ว การให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์” ซึ่งพระสงฆ์ก็จะให้ข้อมูลชาวบ้านผ่านกลไกที่เรียกว่า “การเทศนา”

พระครูศรีธรรมกร เล่าว่า ประเด็นเรื่องภัตตาหารถวายพระภิกษุ ก็เป็นอีกเรื่องที่คุยกันในที่ประชุมคณะสงฆ์ และก็เป็นเรื่องที่มีการรณรงค์กันมาตลอด พระเดชพระคุณพระเทพวรมุนี ท่านก็จะเน้นย้ำเรื่องการดูแลสุขภาพสงฆ์ “โดยเฉพาะเรื่องอาหาร”

จะเป็นการรณรงค์ว่า ญาติโยมก็ควรถวายอาหารที่ถูกหลักตามโภชนาและ พระสงฆ์เองก็ควร พิจารณาก่อนฉัน และพระสงฆ์เองก็ต้องรับทราบข้อมูลในส่วนนี้

พระครูศรีธรรมกร อธิบายว่า สำหรับวัดห้วยไหล่แล้ว อาตมาจะบอกญาติโยมว่าไม่ควรนำอาหารสุกๆ ดิบๆ มาถวายพระ รวมไปถึงอธิบายถึงอาหารที่ควรถวาย ว่าควรจะเป็นอาหารที่ถูกหลักตามโภชนาการ ครบ 5 หมู่

บางครั้งก็จะเป็นอาหารประจำฤดูกาล จะเป็นอาหารป่า ยามเห็ดก็มีเห็ด ถ้าหน้าฝนก็จะมีหน่อไม้ ส่วนเนื้อสัตว์ก็จะเป็นอาหารตลาด และก็เป็นอาหารที่หาง่าย นั่นก็คืออาหารสำเร็จรูป

บางวัดบางพื้นที่อาจจะทำความเข้าใจกับญาติโยม แต่ส่วนมากก็รับทราบแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะพระสงฆ์ก็ยังต้องอาศัยชาวบ้านที่มาทำบุญ ยิ่งถ้าอยู่ในชนบทอาหารที่นำมาถวายก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านเป็นหลัก

พฤติกรรมชาวบ้านก็ยังไม่เปลี่ยน คือเขาทานอย่างไร ก็ถวายแบบนั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ พระเองจะพูดตรงๆ ก็กระไรอยู่ ฉะนั้นก็จะต้องเชื่อมโยงกันระหว่างคณะสงฆ์ สาธารณสุข และ อสม. ก็จะต้องทำความเข้าใจด้วย เวลมีการประชุมก็จะมีการบอก อสม. ให้ฝากเรื่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ให้ข้อมูลให้คนในชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบ

พระครูศรีธรรมกร เล่าต่อไปว่า หากไม่มีโครงการนี้ พระสงฆ์ก็จะไม่ทราบเลยว่า การฉันอาหารประเภทใดที่จะก่อให้เกิดไขมัน น้ำตาล หรือเบาหวาน เมื่อญาติโยมเข้ามาถวายภัตตาหารก็ไม่ขัดศรัทธา แต่เมื่อมีโครงการนี้ รวมถึงมีฝั่งสาธารณสุขคอยให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลที่เป็นวิชาการด้านสุขภาพ ทำให้พระสงฆ์มีความระมัดระวังในการฉันอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี่ยงฉันอาหารแสลงต่อโรคที่เป็นอยู่

“ในเขตตำบลเข้าโครงการทุกวัด ภาพรวมตำบลพระสงฆ์กำลังตื่นตัวที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะการดื่มกาแฟ การสูบบุหรี่ อาตมาก็รณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ กาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลัง เวลามีกิจกรรมที่วัดก็จะไม่ซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ถวายวัด เพราะน้ำเหล่านั้นมีน้ำตาลเยอะ จะเน้นเป็นน้ำชา หรือเป็นน้ำขิงแทน

พระปลัดจะตุพล เล่าเสริมว่า ตามบริบทในพื้นที่อาหารขยะไม่มีอยู่แล้ว อาหารที่ญาติโยมนำมาถวายก็เป็นอาหารจากธรรมชาติ ชาวบ้านก็รับรู้ว่าจะต้องเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนถึงขนาดนั้น เพียงแต่พระสงฆ์ก็จะต้องเลี่ยง และเลือกว่าควรจะฉันอะไร

เราใช้การเทศน์ ประชาสัมพันธ์เรื่องสุขภาพสงฆ์ให้ชาวบ้านฟัง ว่าเรื่องอาหารการกินสำคัญ ถ้าอยากให้พระสงฆ์อยู่นานๆ ก็ต้องดูเรื่องการถวายภัตาหารด้วย เผยแพร่ทางด้านเทศน์ไปด้วย กระจายสู่ชมชน เขาก็จะรู้ เวลามีงานบุญเราก็พูดได้ งานกฐินเราก็แทรกได้

ปกติพระสงฆ์เวลาโยมถวายอะไรก็จะขัดศรัทธาไม่ได้ แต่เมื่อรู้แล้วว่าเป็นโรคอะไรจากการตรวจของ รพ.สต. พระสงฆ์ก็สามารถเลี่ยงได้ ก็ดีขึ้นหลังจากที่ร่วมโครงการ และพฤติกรรมการฉันของพระสงฆ์ก็เปลี่ยนไป พระปลัดจะตุพล กล่าว

พระสงฆ์นำรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

พระครูศรีธรรมกร เล่าต่อไปว่า อาตมาขับเคลื่อนเรื่องโครงการหมู่บ้านศีล 5 ระดับอำเภออยู่แล้ว เวลามีกิจกรรม หรือลงพื้นก็จะสอนทั้งพระ และประชาชน รวมไปถึงการรณรงค์เรื่องการงดสูบบุหรี่-งดดื่มแอลกอฮอล์ในวัด เพราะถ้าวัดปราศจากสิ่งเหล่านี้ได้ การขับเคลื่อนสุขภาพ และเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนนั้นก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“เรื่องสุขภาพพระสงฆ์อาตมาได้ยินครั้งแรกก็คือเรื่องธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ที่ผ่านมติมหาเถรสมาคม ซึ่งหลวงพ่อพระเดชพระคุณก็ได้พูดในงานประชุมคณะสงฆ์ และก็มี อาจารย์อภิชาต หงษาวงศ์ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ตามมาตรา 50(5) อ.เรณูนคร และคณะเป็นผู้อธิบายความรู้พระสงฆ์ให้ทราบเรื่องการดูแลสุขภาพ

“ฟังก็รู้สะกิดใจว่ามีหน่วยงานราชการที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจ พอมีคนมาให้ความรู้ก็ตื่นตัว และดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น พระครูศรีธรรมกร กล่าว

พระปลัดจะตุพล เล่าว่า อาตมาจะประกาศว่าไม่รับถวายบุหรี่ เพราะในวัดก็มีเด็กวัด รวมไปถึงมีเณร หากมีการนำมาถวายก็เกรงว่าอาจจะมีการแอบขโมยได้ แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ยังมีการถวายอยู่ เพราะมีประเพณีทีเรียกว่า การถวายขัน 5 เพียงแต่ไม่ได้มาในรูปแบบซองเท่านั้น

“ภาพรวมก็ดีขึ้นกว่าก่อนมีโครงการ ถือว่าเปลี่ยน แต่ก็ไม่เยอะ ถ้าดูจากพฤติกรรม พระในส่วนนี้ไม่ค่อยมีโรคเยอะ แต่พระบางรูปก็เปลี่ยนไปของท่านเองตามที่ได้รับคำแนะนำ ได้ศึกษาจากการอบรม วัดโพนสวรรค์มีแค่เจ้าอาวาสที่ป่วย นอกนั้นอยู่ในกลุ่มสุขภาพปกติ พระปลัดจะตุพล กล่าว

พระปลัดจะตุพล ขยายความว่า โครงการนี้มีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องสุขภาพพระสงฆ์หลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการฉัน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะบางครั้งพระสงฆ์ หรือสามเณรจะไม่รู้เรื่องการฉันภัตตาหาร เพราะเป็นวิถีชีวิตเดิมของบ้านเราชาวอีสาน โดยเฉพาะกับหลวงตาที่มีอายุมาก

“พระสงฆ์ตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น มี รพ.สต. คอยเข้ามาดู ถ้ามีเหตุก็แจ้งไปได้ มี อสม. คอยดูแลอยู่ ช่วยได้เยอะ อาตมาว่าช่วยได้เยอะ สะดวกมาก เวลามีอะไรสามารถถามได้เลย พระปลัดจะตุพล กล่าว

ปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูล-งบประมาณ

พระครูศรีธรรมกร เล่าว่า ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารยังไม่เชื่อมโยงกันในด้านการประสานงาน เนื่องจากโอกาสในการชี้แจง หรือการประชุมคณะสงฆ์ระดับอำเภอยังไม่มี ซึ่งคิดว่าหากมีการบรรยายในระดับอำเภอเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

“ในระดับจังหวัดมีแล้ว แต่ระดับอำเภอยังไม่มี เพราะเจ้าอาวาสบางวัดท่านจะไม่ทราบข้อมูล แต่ถ้าเป็นคณะตำบลจะทราบ เพราะไปประชุมระดับจังหวัด

“เมื่อไประดับอำเภอแต่ละอำเภอ เจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสบางวัดก็จะได้รับทราบข้อมูลตรงนี้โดยตรงก็จะตื่นตัวขึ้น

ทว่าการเชื่อมโยงในระดับพื้นที่เอง ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนเช่น เพื่อให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความเข้าใจของทุกภาคส่วน

“การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพื้นที่ ระหว่างคณะสงฆ์ตำบล รพ.สต. และท้องถิ่น อยากให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบให้ความสำคัญ เช่น การจัดประชุม ทาง รพ.สต. ให้ความสำคัญ นายกให้ความสำคัญ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสให้ความสำคัญ ถ้าทุกอย่างรับทราบข้อมูลได้ด้วยตนเองก็จะทำให้ขับเคลื่อนโครงการนี้ไปได้ง่ายขึ้น

พระครูศรีธรรมกร เล่าต่ออีกว่า อาตมาไม่ได้ทราบว่าในแต่ละปีมีงบประมาณสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แต่ก็อยากให้สนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

“ถ้าตำบลมหาชัยทำแล้ว มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกปี หรือที่ไม่ลดลง ถ้าคณะสงฆ์ ต. มหาชัย ดูแลเรื่องสุขภาพดีขึ้น ต. อื่นก็อาจจะเห็นความสำคัญ

พระสงฆ์สุขภาพดี ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน

พระปลัดจะตุพล เล่าว่า เดิมทีพระสงฆ์บางท่านไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพ ไม่รู้ว่าเมื่อป่วยจะต้องไปไหน ติดต่อใคร และใช้สิทธิอะไรในการรักษา กลายเป็นว่าเมื่อป่วยก็จะต้องอาศัยพึ่งชาวบ้าน บางพื้นที่มีพระสงฆ์ที่ชราภาพแล้ว ท่านก็ไม่รู้เรื่องว่าต้องทำอย่างไร เมื่อไหร่ที่ป่วยก็จะนอนซมอยู่ที่วัด ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาประสาน

ตั้งแต่มีโครงการนี้มา ต.ยอดชาด ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะรู้ว่าจะต้องประสานอย่างไร เมื่อก่อนก็มีพระที่ป่วยอยู่ในวัด แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้น เพราะมีโครงการนี้ จะเป็นการดีถ้ามีคนมาให้ความรู้ในด้านนี้ แต่ก็ต้องช่วยกันทั้งหลายฝ่าย พระอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องมีท้องถิ่น มีสาธารณสุขเข้ามาช่วยกัน

สำหรับบางอำเภอที่ยังไม่รู้จักโครงการนี้ อาจเริ่มจากการจัดอบรมเป็นตำบล หรืออำเภอก่อนก็ได้ เพื่อให้พระสงฆ์บางวัดได้ทำความเข้าใจ

 พระครูศรีธรรมกร กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระสงฆ์ จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้ง รพ.สต องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) คณะสงฆ์

“อาตมาในนามเจ้าคณะตำบลก็เต็มที่ ในส่วน อปท. ก็ได้ว่าที่นายกคนใหม่ เข้าใจว่าที่พูดคุยเบื้องต้น อบต. ก็พร้อมจะพูดคุยกับคณะสงฆ์ และพระสงฆ์ก็พร้อมจะขับเคลื่อนโครงการ

โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก้าวแรกอาจจะต้องใช้ระยะเวลา หากมีก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สอง ก้าวที่สาม ก็จะตามมา

พระครูศรีธรรมกร เล่าต่อไปว่า การใช้พลัง “บวร” จะเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการทำงาน บ้าน วัด ราชการ ต้องขับเคลื่อน และมีส่วนร่วมไปด้วยกัน รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูล-การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง และชัดเจน เมื่อผู้ส่งสารส่งสารถูกต้อง ผู้รับสารก็เองจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามไปด้วย