ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยิ่งห่างไกล สถิติป่วย ‘ตาต้อกระจก’ ยิ่งพุ่ง “ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ” เสนอ สปสช.ต่อรองราคาเลนส์แก้ตาเอียง เพิ่มเติมในชุดสิทธิประโยชน์

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฉายภาพสถานการณ์ผู้ป่วยตาต้อกระจกในประเทศไทยว่า สถานการณ์เป็นไปเช่นเดียวกับทั่วโลก กล่าวคือประชากรที่มีอายุมากตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะป่วยเป็นต้อกระจกมากขึ้น แต่ภายหลังที่ประเทศไทยได้ทำโครงการลดการตาบอดจากต้อกระจก พบว่าผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกในระดับรุนแรงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเขตเมืองที่พบผู้ป่วยน้อยมาก

“ในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีผู้ป่วยอยู่ ในเขตอำเภอที่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 100-200 กิโลเมตร จะพบผู้ป่วยต้อกระจกในระดับรุนแรงหรือต้อสุกมากๆ ประมาณ 20-30% ของคนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากเป็นอำเภอที่ห่างไกลออกไปอีก เช่น อุ้มผาง ท่าศาลา จะพบผู้ป่วยประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา” นพ.อนุชิต กล่าว

นพ.อนุชิต กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาผ่านงานวิจัยพบว่าสาเหตุที่คนไข้ในพื้นที่ห่างไกลเป็นต้อกระจกสุกมากๆ จำนวนมาก เนื่องจากประชาชนมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ารับการรักษา ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และมีความรู้สึกกลัวการเข้ารับการรักษา

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) อยู่ระหว่างการสำรวจว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกเท่าไร เพราะที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแหงชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาช่วยทำโครงการลดจำนวนผู้ป่วยตาบอด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยลดจำนวนลงมาก” นพ.อนุชิต กล่าว

ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ดีขึ้นเรื่อยๆ และได้ขยายความครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะแรกมีการกำหนดราคาเบิกจ่ายค่ารักษาต้อกระจกเล็กๆ กับต้อกระจกที่สุกมากๆ ในอัตราที่เท่ากัน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเอกชนเลือกที่จะรักษาผู้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งที่สุดแล้วจำนวนผู้ป่วยตาบอดของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดง แต่หลังจาก สปสช.ปรับปรุงราคาก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน

“ย้อนกลับไปในอดีต เลนส์ที่เราใส่กันอยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงมาก แต่พอ สปสช.เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ เขาก็ใช้กลไกการต่อรองราคาซึ่งทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเลนส์เหล่านี้มีคุณภาพตามมาตรฐาน แต่อาจจะไม่ถึงกับทันสมัยใหม่ล่าสุด” นพ.อนุชิต กล่าว

นพ.อนุชิต กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้ สปสช.เข้ามาดูเรื่องราคาเลนส์พิเศษแก้สายตาเอียง โดยอาจจะต่อรองราคาให้ถูกลงหรือให้คนไข้ช่วยจ่ายเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาในครั้งเดียวโดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายตัดแว่นสายตาเอียงอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พยายามผลักดันกันอยู่

สำหรับสถานการณ์จักษุแพทย์ในปัจจุบัน นพ.อนุชิต กล่าวว่า ในเมื่อผู้ป่วยอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมาก จักษุแพทย์ในปัจจุบันจึงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดจะมีแพทย์น้อยมาก นั่นสะท้อนถึงปัญหาการกระจายตัวของจักษุแพทย์

อย่างไรก็ดี ทาง สธ.ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยทุกๆ สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนของแพทย์ ทั้งเชิงการคงอยู่ของตัวแพทย์เองและทำให้แพทย์อยู่ในชนบทได้ เบื้องต้นมีการสำรวจและพบว่าในต่างจังหวัดขาดแคลนจักษุแพทย์ราวๆ 110 ตำแหน่ง ขณะที่ในแต่ละปีราชวิทยาลัยสามารถฝึกอบรมได้ประมาณ 40 กว่าราย จึงมีการคุยกันหลายฝ่ายทั้งเขตสุขภาพ สธ. สถาบันฝึกอบรมต่างๆ โดยเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันผลิตให้ได้ถึงปีละ 50 ราย ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ในปีนี้ได้