ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เผยปัญหาเรื้อรัง “ห้องฉุกเฉิน” ขาดความเข้าใจในการบริหาร กลายเป็นห้องทำทุกอย่าง ไร้ทิศทางกำกับหลักเกณฑ์ ขาดการสนับสนุนบุคลากรที่จำเป็น ส่งผลต่อเนื่องลามเป็นความรุนแรง


นพ.เอกภักดิ์ ระหว่างบ้าน นายแพทย์ชำนาญการ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลอุดรธานี และหัวหน้าศูนย์สั่งการ 1669 ประจำจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงสถานการณ์ปัญหาของห้องฉุกเฉิน หรือ Emergency Room (ER) ว่าในหลายโรงพยาบาลล้วนประสบกับภาวะเดียวกัน คือต้องรับหน้าที่หนักในการดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ภาระทางการแพทย์ครอบคลุม 4 สาขาหลักทั้ง “สูติ-ศัลย์-เมด-เด็ก” ไปจนถึงเรื่องของระบบการส่งต่อ บริการปรึกษา (Consult) ต่างๆ จน ER นั้นได้รับการขนานนามว่าเป็น Everything Room

นพ.เอกภักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของประเทศไทยคือการที่ยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีการแบ่งแยกไม่ชัดเจน รวมถึงไม่มีอะไรที่ช่วยคัดกรอง จึงทำให้ภาระงานหนักมาตกอยู่ที่ห้องฉุกเฉินในการคัดแยกผู้ป่วย และหากเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็มักตามมาด้วยปัญหาการฟ้องร้อง หรือความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง

“ER มักจะถูกมองว่าเป็น Everything Room ทำทุกอย่างตั้งแต่ทำแผล เปลี่ยนท่อ ใส่ทิวบ์ ฉีดยาหมากัด ตรวจไข้หวัด หรืออะไรก็ตามที่มานอกเวลาก็อัดมาที่ห้องฉุกเฉินหมด เพราะเราไม่มีคลินิกนอกเวลาจนถึงเช้าเหมือนต่างประเทศ จนคนไม่เข้าใจว่าหน้าที่ของหมอในห้องฉุกเฉินคืออะไร ทั้งที่ความจริงจะต้องเป็นแพทย์ที่จบมาเฉพาะทาง ดูในด้านที่ครอบคลุมภาวะฉุกเฉินทุกสาขา ทั้ง pre-hospital ไปจนถึงเรื่องภัยพิบัติ” นพ.เอกภักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาของห้องฉุกเฉินในบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งความรู้ความสามารถของบุคลากรในหน่วย ขณะที่บริบทในโรงพยาบาลศูนย์ อาจเป็นปัญหาของระบบงาน ที่ห้องฉุกเฉินไม่ได้ถูกให้ความสำคัญหรือวางแผนไว้อย่างเป็นระบบ ทำให้ในหลายครั้งการส่งต่อเคสมาที่ห้องฉุกเฉินนั้นก็ไม่ได้รับการส่งต่อข้อมูล จนเกิดปัญหาและมีการทะเลาะกันระหว่างแผนกได้

“เรื่องนี้เองก็เป็นปัญหาที่ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่เจ้ากระทรวงเอง ยังคงไม่เข้าใจถึงบทบาท ความเป็นมา รวมถึงหน้าที่ของห้องฉุกเฉินจริงๆ ตัวอย่างเช่น ห้องฉุกเฉินต้องการนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) เพื่อทำทีมบอกเหตุ แต่ทางกระทรวงกลับไม่มีตำแหน่งนี้ให้ หากรับก็จะต้องออกเงินจ้างเป็นลูกจ้างรายวันเอง โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงเลือกจ้างเจ้าหน้าที่กู้ชีพ (EMT) ที่ความสามารถต่ำกว่าแทน เพราะบรรจุตำแหน่งได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ห้องฉุกเฉินปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพ” นพ.เอกภักดิ์ ระบุ

ในส่วนของตำแหน่งงานที่สำคัญอย่าง Paramedic พบว่าแม้จะมีการผลิตบุคลากรเพิ่มในทุกปี แต่เมื่อจบออกมาแล้วกลับไม่มีตำแหน่งงานรองรับ รวมถึงไม่มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เช่นเดียวกับพยาบาลวิชาชีพที่เรียนเฉพาะทางเพื่อทำงานในห้องฉุกเฉิน (ENP) ซึ่งพบว่าเมื่อเรียนมาแต่กลับไม่ได้รับค่าตอบแทนใดเพิ่ม พยาบาลวีชาชีพส่วนใหญ่จึงมักเลือกเรียนเฉพาะทางในสาขาอื่นมากกว่า สิ่งเหล่านี้จึงทำให้งานของห้องฉุกเฉินไม่ได้รับการพัฒนา

นพ.เอกภักดิ์ กล่าวว่า หากมองถึงวิธีการแก้ไขปัญหา อาจต้องค่อยๆ เริ่มจากบริบทของแต่ละโรงพยาบาลในการวางจุดยืนให้ชัดเจน ว่าภาวะฉุกเฉินของโรงพยาบาลนั้นเป็นอย่างไร เพื่อแบ่งหน้าที่ให้ชัด พร้อมกับวางมาตรการ การคัดกรองที่ถูกต้อง และประกาศให้ผู้เข้ามาใช้บริการได้เข้าใจว่าอะไรคือความฉุกเฉิน ขณะเดียวกันหากโรงพยาบาลใดมีศักยภาพทางการเงิน ก็อาจสำรวจห้องฉุกเฉินได้ว่าขาดบุคลากร ขาดองค์ความรู้แบบใด เพื่อเข้ามาเสริมในการทำงาน

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบเอาไว้ให้ห้องฉุกเฉินกลายเป็นด่านหน้าของการรับผู้ป่วยทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ส่วนนี้อาจทำการปรับโครงสร้างได้ยาก ดังนั้นจึงอาจต้องเริ่มจากจุดยืนด้วยเช่นเดียวกัน ให้มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนภายในโรงพยาบาลว่าแต่ละหอผู้ป่วยจะสามารถแบ่งเบาภาระของห้องฉุกเฉินไปได้อย่างไร ขณะที่ห้องฉุกเฉินจะดึงเคสที่ฉุกเฉินเอาไว้ไม่ให้หลุดไปที่อื่นได้อย่างไร ซึ่งส่วนนี้อาจต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ซึ่งกันและกัน

“ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินที่มีมาเนิ่นนาน ก็ล้วนเกิดขึ้นจากผลพวงของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นถ้าเรามีการคัดแยกที่ชัด บอกเกณฑ์หรือข้อบ่งชี้ในการอยู่ห้องฉุกเฉินที่ชัดเจน ว่าจัดลำดับตามความเร่งด่วนอย่างไร ก็จะช่วยลดแรงปะทะลงไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าปัญหาระบบโครงสร้างยังไม่ดี และไม่มีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ไม่ประชาสัมพันธ์ว่าอะไรคือฉุกเฉิน ปัญหาการใช้ความรุนแรงพวกนี้ก็จะวนกลับมาในลูปเดิม” นพ.เอกภักดิ์ กล่าว