ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยิ่งห่างไกล สถิติป่วย "ต้อกระจก"...ยิ่งพุ่งสูง รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า สถานการณ์ผู้ป่วยตาต้อกระจกในประเทศไทยเป็นไปเช่นเดียวกับทั่วโลกคือ ประชากรที่มีอายุมากตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะป่วยเป็นต้อกระจกมากขึ้น

แต่หลังจากที่ประเทศไทยได้ทำโครงการลดการตาบอดจากต้อกระจกพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกในระดับรุนแรงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะใน "เขตเมือง" ที่พบผู้ป่วยน้อยมาก

รศ.นพ.อนุชิต บอกว่าในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีผู้ป่วยอยู่ในเขตอำเภอที่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 100-200 กิโลเมตร จะพบผู้ป่วยต้อกระจกในระดับรุนแรง หรือต้อสุกมากๆประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากเป็นอำเภอที่ห่างไกลออกไปอีก เช่น อุ้มผาง ท่าศาลา จะพบผู้ป่วยประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

น่าสนใจด้วยว่าผลการศึกษาผ่านงานวิจัย พบว่า สาเหตุที่คนไข้ในพื้นที่ห่างไกลเป็นต้อกระจกสุกมากๆจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ารับการรักษาประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และมีความรู้สึกกลัวการเข้ารับการรักษา

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) อยู่ระหว่างการสำรวจว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกเท่าไรเพราะที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาช่วยทำโครงการลดจำนวนผู้ป่วยตาบอด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยลดจำนวนลงมาก

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะประธานคณะทำงานเกี่ยวกับตาต้อกระจก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ผู้ป่วยตาต้อกระจกถือเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมานาน โดยขณะนี้ยังมีประชาชนที่ตาบอดจากตาต้อกระจกจำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างมาก ตามมติ สปสช.ที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุขเห็นตรงกันคือ ต้องเกิดเป้าหมายเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ตาบอด หรือมองเห็นเลือนรางจากตาต้อกระจก ให้ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้กลับมามองเห็นได้อย่างเดิม ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือ...

ภายในปี 2563 จะต้องไม่มีผู้ป่วยตาบอดจากตาต้อกระจกในประเทศไทยอีกต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดโควตาการผ่าตัดในปี 2561 โดย สปสช.สามารถผ่าตัดตาต้อกระจกทั้งสำหรับผู้ที่ "ตาบอด" และ "มองเห็นเลือนราง" ในจำนวน 120,000 ดวงตา ซึ่งจะกระจายโควตาไปยังเขตบริการสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ ตามผลสำรวจประชากรที่ต้องได้รับการผ่าตัดตามสิทธิประโยชน์

"เราแบ่งเป็นการผ่าตัด 100,000 ดวงตา ให้กับเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศขณะที่อีก 20,000 ดวงตา จะกันเอาไว้ในส่วนกลางเพื่อเป็นโควตาสำรองให้กับผู้ป่วยแต่ละเขตบริการสุขภาพที่ต้องการผ่าตัดเพิ่มเติม"

ในส่วนของโรงพยาบาลที่ผ่าตัดตาต้อกระจกนั้น สปสช.จะมีอัตราเหมาจ่ายค่าผ่าตัดให้ตั้งแต่ 5,000-9,000 บาท ซึ่งความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัด

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสริมว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยตาต้อกระจก ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองดีขึ้นตามลำดับ โดยเป้าหมายในปัจจุบันคือต้องการขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย

ในอดีตพบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการและการให้บริการก็ไม่มีความแน่นอนเพราะต้องอาศัยเงินบริจาคจากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ จึงจะสามารถออกหน่วยให้บริการประชาชนได้

ภายหลังมีระบบ "บัตรทอง" และได้ทำโครงการ "แก้วตาดวงใจเทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐในการส่งเสริมให้เกิดการผ่าตัดทั่วประเทศได้ 1 แสนดวงตา จากนั้นทาง สปสช.ก็เข้ามารับช่วงต่อในการดูแลกำหนดสิทธิประโยชน์และเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

"ในอดีตจะใช้เลนส์ขนาด 6 มิลลิเมตร ผ่าตัดแผลใหญ่และต้องเย็บแผลหลายเข็มแต่ในระยะหลังมีการศึกษาวิจัยจนพบว่าสามารถใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น แต่คุ้มค่าเมื่อผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำงานหารายได้ได้"

ด้วยข้อดีสำคัญนี้ สปสช.จึงได้อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มที่พับได้ ซึ่งนับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"แต่ก่อนเราบอกว่าของฟรีคงไม่ค่อยดีแต่ที่จริงไม่ใช่แล้วเพราะมีมาตรฐานดีมีคณะกรรมการดูแลและพิจารณาอย่างละเอียด" นพ.ปานเนตร ว่า

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาบุคลากรด้านจักษุรวมถึงพยาบาลในท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่เพียงพอแต่ก็นับว่าดีขึ้นและให้บริการได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบัน สธ.ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยเพื่อให้โควตาจักษุแพทย์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 คน ซึ่งหากเป็นไปตามอัตรานี้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่า บุคลากรจะเพียงพอ

เมื่อเพียงพอแล้วจากนั้นก็จะมีการบริหารจัดการระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน...หมายความว่าผู้ป่วยก็จะลดลงเรื่อยๆปัญหาใหม่ก็จะไม่มี ปัญหาเก่าๆก็จะค่อยๆหมดไป

นพ.ปานเนตร บอกอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์...โรงพยาบาลทั่วไปก็มีแพทย์ด้านตาหมดแล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนจริงๆก็มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการผ่าตัด

หลังจากเราเคลียร์ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดได้แล้วก็จะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระดับคุณภาพชีวิต คือจริงๆแล้ว ตาของเราจะมีสายตาเอียงอยู่ด้วย ซึ่งต้องแก้ด้วยการใส่แว่น แต่พัฒนาการในปัจจุบันพบว่ามีเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้สายตาเอียงได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เขาให้เบิกเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงได้ด้วย ซึ่งจะจบทีเดียวเลยโดยที่ไม่ต้องไปตัดแว่นอีก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยด้วย

ประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่า สายตาเอียงเป็นโรค ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการดูแล ซึ่งขณะนี้เราพยายามเสนอให้พิจารณานำเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้เอียงเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆแล้วราคาของเลนส์เกือบ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเราซื้อมากๆ และมีการต่อรองราคา เชื่อว่าราคาก็จะลดลงเป็นอย่างมาก

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย บอกอีกว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้ สปสช.เข้ามาดูเรื่องราคาเลนส์พิเศษแก้สายตาเอียง โดยอาจจะต่อรองราคาให้ถูกลงหรือให้คนไข้ช่วยจ่ายเล็กน้อย จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาในครั้งเดียวโดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายตัดแว่นสายตาเอียงอีก

"ในเมื่อผู้ป่วยอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมากจักษุแพทย์ในปัจจุบันจึงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดจะมีแพทย์น้อยมากสะท้อนถึงปัญหาการกระจายตัวของจักษุแพทย์ หากพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนของแพทย์ทั้งเชิงการคงอยู่ของตัวแพทย์เองและทำให้แพทย์อยู่ในชนบทได้ ก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์นี้ได้"

เมื่อเป้าหมายแรกสำเร็จ...ไม่ให้มีคนตาบอดจากตาต้อกระจกอีกต่อไป เมื่อเรามีแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งในส่วนตำบลอำเภอกลับไปอยู่ในพื้นที่เขตบริการสุขภาพ ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่สำเร็จแล้ว...อนาคตคือนำสิทธิประโยชน์ "ผ่าตัดตาต้อกระจก" เข้าสู่ระบบบริการปกติ.

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ดีขึ้นตามลำดับ โดยเป้าหมายในปัจจุบันคือ ต้องการขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย ในอดีตพบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการและการให้บริการก็ไม่มีความแน่นอน

ขอบคุณที่มา นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 28 มิถุนายน 2561