ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมลงนามกับ ม.มหิดล สำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพันในองค์กรของผู้ปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคน สปสช.ให้เดินหน้างานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีพิธีลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพันในองค์กรของผู้ปฏิบัติงาน สปสช. ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามร่วมกับ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่ายนี้ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของ สปสช.ในการที่จะวัดความสุขของผู้ปฏิบัติงานด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER เพื่อสำรวจ ติดตาม ประเมินผล คุณภาพชีวิต ความสุขของผู้ปฏิบัติงานในปัจจุบัน และเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับประกอบการวางแผนสร้างสุขให้ผู้ปฏิบัติงาน รองรับยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปี 2560-2564 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน สปสช. ให้เป็นคนดี เก่ง มีความสุข และทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้แนวคิด "สปสช.สู่องค์กรแห่งความสุข" เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีศักยภาพเพื่อการดำเนินการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้ปฏิบัติงาน สปสช.ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นนโยบายที่สำคัญต่อประชาชนไทย การเป็นองค์กรแห่งความสุขจะนำไปสู่การทำงานที่ดี และทำให้เกิดการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนไทยต่อไป” ศ.คลินิก นพ.โชคชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คุณภาพชีวิตความสุขคนทำงานเป็นหัวใจในการพัฒนาองค์กรเพื่อร่วมพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงให้ความสำคัญและพัฒนาเครื่องมือวัดความสุข หรือ HAPPINOMETER ที่มีมิติและตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับคนทำงานทุกประเภท เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุขได้ต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม จะดำเนินการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุขและความผูกพันในองค์กรของผู้ปฏิบัติงาน สปสช.ผ่านระบบออนไลน์ และจัดทำรายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุขและความผูกพันในองค์กรของผู้ปฏิบัติงาน สปสช.ให้กับ สปสช.

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า องค์กรจะอยู่ได้นั้น ปัจจัยภายในมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญที่สุด คุณภาพของคนทำงานมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็น  สิ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดลพยายามดำเนินการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะมิติด้านความสุขของคนทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สปสช.เห็นความสำคัญด้านนี้ จึงเป็นที่มาของการลงนามในครั้งนี้ สปสช.เชื่อว่านอกจากการมุ่งผลสัมฤทธิ์เชิงการงานแล้ว สิ่งสำคัญคือผลสัมฤทธิ์นั้นต้องตั้งอยู่บนความสุขของคนทำงานด้วย ผู้บริหาร สปสช.เห็นความสำคัญด้านนี้ แต่แน่นอนว่าคนทำงานแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านทัศนคติต่างๆ ดังนั้นการลงนามครั้งนี้ เพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน เพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ขององค์กรด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายของรัฐบาล ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีส่วนช่วยเหลือในการเริ่มต้นความสุขของคนทำงานในครั้งนี้