ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองทุนสุขภาพตำบลเป็นกองทุนที่จัดสรรโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บวกด้วยเงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกออกแบบมาให้ใช้จ่ายเงินให้หมดแบบปีต่อปีเพื่อให้หน่วยบริการและภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆนำเงินเหล่านี้ไปดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบในหลายๆพื้นที่คือไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้หมดตามเป้าที่วางไว้ เกิดปรากฎการณ์เงินค้างท่อสะสมติดต่อกันหลายปีจนบางแห่งมีเงินเหลืออยู่หลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้คณะผู้บริหาร สปสช. จากส่วนกลาง นำโดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ได้ลงพื้นที่ ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนสุขภาพตำบลเทศบาลตำบลโคกชะงาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ลัญฉนา คงสุวรรณ ปลัดเทศบาลตำบลโคกชะงาย กล่าวถึงบริบทในพื้นที่ว่า ต.โคกชะงาย เป็นตำบลเล็กๆ มี 9 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 5,000 กว่าคน มีรายรับรวมถึงเงินอุดหนุนประมาณ 28 ล้านบาท และถ้ารวมเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากโรงเรียนถ่ายโอนด้วยก็จะอยู่ 48 ล้านบาท ถือว่าไม่มากสำหรับการบริหารจัดการในทุกด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพชีวิต การศึกษา การพัฒนาอาชีพ ฯลฯ ส่วนเงินสำหรับการดูแลด้านสุขภาพประชาชนจะอยู่ที่ประมาณปีละ 400,000 บาทเท่านั้น

ลัญฉนา กล่าวต่อไปว่าเทศบาลตำบลโคกชะงายได้สมัครเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลขึ้นในปี 2551 ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำงานมาเรื่อยๆโดยใช้กระบวนการชุมชนมีส่วนร่วม เจ้าของสุขภาพมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และไม่คิดว่าจะทำมาจนถึงจุดที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจนมีหลายพื้นที่มาศึกษาดูงานได้

สำหรับกระบวนการ Set up ระบบการทำงานนั้น ปลัดเทศบาลตำบลโคกชะงายกล่าวว่าตั้งแต่สมัครเข้ากองทุนสุขภาพตำบลในปี 2551 ก็เริ่มต้นด้วยการศึกษาประกาศหลักเกณฑ์ของ สปสช. อย่างละเอียดว่าที่ สปสช. ให้ทำเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์อะไร เป้าหมายอะไร ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำอะไร

จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรกับเงินที่ได้มา มีการทำแผนทางทางเดินยุทธศาสตร์ ระดมทุกภาคส่วนมาพูดคุยปัญหาสุขภาพว่าแต่ละหมู่บ้านเป็นอย่างไร ทำแผนทางสุขภาพของหมู่บ้าน เรียงความสำคัญ ดูบริบทของสุขภาพประชาชนแต่ละกลุ่มวัย จากนั้นก็แยกงานเลยว่าทั้ง 5 กลุ่ม 3 สิทธิประโยชน์จะได้อะไรและเทศบาลต้องเสริมอะไร แล้วก็ทำแผนโดยเน้นให้เจ้าของสุขภาพมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เมื่อ สปสช.จ่ายเงินเข้ามา เทศบาลก็สมทบให้อีกเกือบ 100% ทุกปี รวมทั้งใช้งบรายได้ของเทศบาลมาสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งเพื่อรองรับซึ่งกันและกัน

“เมื่อมีแผนแล้ว พอมีเงินเข้ามาก็แบ่งเงินโดยจัดลำดับความสำคัญมากไปหาน้อย แล้วก็แบ่งเงินเป็น 5 ประเภท ประเภทที่ 1 คืออุดหนุนกลับไปยัง รพ.สต.ในพื้นที่ ประเภทที่ 2 ให้กลุ่มประชาชนที่เข้มแข็งที่ต้องการจัดการสุขภาพ ประเภทที่ 3 ก็ให้ศูนย์ผู้สูงอายุ ศูนย์เด็ก โรงเรียน ตามหลักเกณฑ์คือไม่น้อยกว่า 15% ประเภทที่ 4 กันไว้สำหรับเป็นงบบริหาร และประเภทที่ 5 แบ่งไว้สำหรับเกิดกรณีโรคระบาดหรือภัยพิบัติฉุกเฉิน” ลัญฉนา กล่าว

ที่สำคัญที่สุดคือบริบทของพื้นที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยมีประชากรสูงอายุกว่า 1,100 คน จากจำนวนทั้งหมด 5,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 21.52% ด้วยเหตุนี้ การวางแผนการดูแลสุขภาพประชาชนจึงต้องวางแผนระยะยาวเพื่อเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ โดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ เน้นให้เจ้าของสุขภาพทุกกลุ่มเกิดความความตระหนักรู้และดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากที่สุด และโชคดีที่ตำบลนี้มีจุดเด่นในเรื่องภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไล่เรียงตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 2 แห่งคือ รพ.สต.บ้านทุ่งยาว และ รพ.สต.บ้านโคกชะงาย ซึ่งมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำงานด้วยใจและเป็นหนึ่งเดียวกับเทศบาล มีชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพ ประสานงานขอความช่วยเหลืออะไรก็เติมเต็มให้ตลอด

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม อสม.ที่เข้มแข็ง ทำงานดีได้รางวัล อสม.ดีเด่นสาขาใดสาขาหนึ่งทุกปี มีชมรมผู้สูงอายุที่มีความเข้มแข็งด้วยตัวเอง สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อดูแลกันเองได้ เช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้สูงอายุติดสังคมไปเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มติดบ้านติดเตียง มีการจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยผู้สูงอายุด้วยกันเอง มีการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุดำเนินการควบคู่ไปกับชมรมผู้สูงอายุอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีส่วนของโรงเรียนเป็นเครือข่ายในการให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่เด็กตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ทั้งในส่วนของตัวเองและการดูแลคนในครอบครัว เมื่อมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งและทำงานร่วมกันเป็นขบวนแบบนี้ การส่งเสริมและดูแลสุขภาพของคนในชุมชนในแต่ละกลุ่มวันจึงดำเนินการไปได้ด้วยดี

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการบริหารงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลนั้นจะพยายามบริหารเงินให้โครงการเกิดความต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี และพยายามให้เงินค้างท่อน้อยที่สุด

ปลัดเทศบาลตำบลโคกชะงาย ขยายความว่า แต่ละปีจะมีเงินค้างท่ออยู่ 2 ส่วน คือ งบบริหารที่อาจจะบริหารไม่หมด และงบฉุกเฉินสำหรับรองรับภัยพิบัติ ซึ่ง 2 ส่วนนี้จะเหลือค้างประมาณปีละ 50,000 บาท ส่วนกระบวนการวางแผนโครงการของปีถัดไปนั้นจะเริ่มประมาณช่วงเดือน ก.ค. ของทุกปี แล้วคณะกรรมการกองทุนจะเริ่มอนุมัติประมาณเดือน พ.ย. จากนั้นเมื่อส่งแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ สปสช.เขต 12 แล้ว ก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาในช่วงเดือน ม.ค. ของปีถัดไป 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อคณะกรรมการกองทุนอนุมัติโครงการเสร็จ โครงการไหนที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง หรือโครงการไหนที่ทำก่อนได้ ก็จะนำเงินที่ยกยอดมาจากปีก่อนหน้าไปใช้ดำเนินการเลย รวมทั้งเทศบาลเองก็จะออกเทศบัญญัติตั้งงบจ่ายสมทบให้อีก เมื่อเทศบัญญัติบังคับใช้ก็จะโอนเงินเข้ากองทุนเลยเพื่อให้สามารถ run งานต่อไปได้โดยไม่ต้องรอการจัดสรรจาก สปสช. ด้วยวิธีการนี้ทำให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆได้ตามปฏิทินที่วางไว้โดยไม่เกิดช่องว่างระหว่างรอการจัดสรรงบ

“พื้นที่เราเป็นตำบลเล็กเงินแต่ละปีก็ไม่ได้มาก แต่บางเรื่องพอทำไปสักพักตัวเงินก็ไม่ได้สำคัญอีก เช่น ปีแรกใช้เงินเพื่อสร้างกระบวนการบางอย่างแต่พอปีที่ 2 บางโครงการก็เป็นการต่อยอดจากเจ้าของสุขภาพที่มีจิตสำนึก ตระหนักรู้ เขาก็ไปทำต่อของเขาเอง อาทิ ปีแรกอาจต้องใช้เงินรณรงค์กินผัก แต่ปีที่ 2 ปีที่ 3 ทุกคนก็ปลูกผักสวนครัวกินได้เอง เราก็ทำกระบวนการเหล่านี้ไป เรื่องที่ใช้เงินส่วนมากจะเป็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าว่าทำอย่างไรจะให้เขาสุขภาพดีขึ้น”ลัญฉนา กล่าว

ปลัดเทศบาลตำบลโคกชะงาย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการดำเนินงานกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ กองทุน LTC นั้น ตำบลโคกชะงายถูกกรมอนามัยเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในปี 2558 โดยมาช่วยอบรม Care Giver และ Care Manager ให้จำนวน 32 คน พอปี 2559 เทศบาลจึงแจ้งความประสงค์ไปยัง สปสช. เพื่อสมัครตั้งกองทุน LTC

ทั้งนี้ เมื่อทำ MOU ตั้งกองทุน LTC แล้ว ก็ใช้กระบวนการแบบเดียวกับกองทุนสุขภาพตำบล คือเริ่มจากการศึกษาระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆว่าเจ้าของเงินต้องการอะไร อยากให้พื้นที่ทำอะไร จากนั้นก็ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายว่าจะวางระบบการใช้เงินในส่วนของ LTC อย่างไร วางแผนออกแบบการดำเนินงาน ออกแบบเอกสาร แล้วให้แต่ละฝ่ายกลับไปทำหน้าที่ตัวเอง เช่น รพ.สต.ก็กลับไปทำ care plan รวมทั้งมีโรงพยาบาลแม่ข่ายให้ความร่วมมือ

“ตอนทำ care plan เราก็ไปทำกันถึงหน้าเตียงเลย คัดเลือกคนสูงอายุติดบ้านติดเตียงมีภาวะพึ่งพิงตามหลักวิชา จากนั้นก็ประสานโรงพยาบาล แพทย์และสหวิชาชีพ ไป care plan หน้าเตียง วางแผนว่าคนนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้จะดูแลยังไง ส่วน Care Giver ก็ไปอยู่ร่วมกับสหวิชาชีพ กับหมอครอบครัว ทำงานร่วมกัน ใครเติมเต็มส่วนไหนได้ก็เติมไป พอ care plan เสร็จ ก็มารีวิวอีกครั้งจนกว่าจะออกมาเป็นแผนการดูแลรายบุคคล”ลัญฉนา กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของเทศบาลก็ออกแบบระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ล้อไปตามกองทุนสุขภาพตำบล การเบิกจ่ายก็ใช้ระเบียบพัสดุของเทศบาลโดยอนุโลม มีการเปิดบัญชีทั้งออมทรัพย์และกระแสรายวัน เพื่อให้เงินไหลจากบัญชีออมทรัพย์ไปบัญชีกระแสรายวัน แล้วจ่ายเป็นเช็คเพื่อไม่ให้เงินต้องผ่านมือใคร

“สรุปคือพอเทศบาลทำเรื่อง LTC เราก็เตรียมการตัวเองไว้ให้พร้อม มีคำสั่ง มีระเบียบ มีกรรมการเบิกจ่ายเงินเพื่อรองรับว่าเงินเข้ามาแล้วเราจะทำอย่างไร เมื่อ รพ.สต.ทำ care plan เสร็จแล้ว เงินที่ส่งมาจากกองทุนจะดำเนินการโดยใคร ตอนแรกก็มีคำถามว่า รพ.สต.จะรับเป็นเจ้าภาพบริหารเงินหรือไม่ แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยรับเพราะมันยุ่งยาก ต้องรับเข้าเป็นเงินบำรุง แต่เนื่องจากระเบียบเปิดให้ทำผ่านศูนย์ผู้สูงอายุได้ เราเลยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุและผู้พิการขึ้นมา ตามประกาศฉบับที่ 2 ข้อ 8 วงเล็บ 1 เพื่อรองรับตัวเงินสำหรับการบริหารงานดูแลผู้สูงอายุ”ลัญฉนา กล่าว

สำหรับผลการดูแลผู้สูงอายุปี 2559-2560 พบว่าสามารถลดจำนวนผู้สูงอายุติดเตียงจาก 15 รายเหลือ 10 ราย โดย 5 รายที่ลดลงนี้เปลี่ยนเป็นกลุ่มติดบ้านแทน ขณะที่ผู้สูงอายุติดบ้าน เดิมมี 71 ราย ก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นกลุ่มติดสังคมได้ 18 ราย ถือเป็นความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นความภาคภูมิใจของทีมงานที่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ปลัดเทศบาลตำบลโคกชะงาย กล่าวทิ้งท้ายสรุปว่า ปัจจัยที่ทำให้การบริหารกองทุนสุขภาพตำบลและกองทุน LTC มีประสิทธิภาพ เพราะตำบลโคกชะงายทำงานเป็นระบบ ดำเนินงานตามปฏิทินที่วางไว้ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ก่อนจะทำอะไรผู้ที่เป็นหัวเรือของแต่ละฝ่ายจะมาคุยกันก่อน และที่สำคัญคือนโยบายผู้บริหารในพื้นที่ นายกเทศมนตรีตำบลโคกชะงายจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในตำบลเป็นหลัก งบของเทศบาลนอกเหนือจากงบรายจ่ายประจำแล้วจะทุ่มไปกับการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งหมด