ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบค่าบริการบัตรทอง กรอบวงเงิน 3.7 พันล้าน จัดบริการโควิด-19 ให้ประชาชน 67 ล้านคน เชื่อช่วยลดงบรักษาในภาพรวม พร้อมอนุมัติค่าตอบแทน-เสี่ยงภัย 1.5 พันล้าน ให้ อสม.อีก 3 เดือน


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ได้เห็นชอบโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรอบวงเงินรวม 3,752.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประกอบด้วย ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 วงเงิน 3,652.4 ล้านบาท และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริการโรคโควิด-19 กรอบวงเงิน 100.3 ล้านบาท โดย สปสช. จะจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานบริการในระบบบัตรทองและสถานพยาบาลอื่น ตามจำนวนผลงานบริการที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทางที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ประกาศกำหนด

สำหรับงบประมาณดังกล่าว จะเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาล ที่ให้บริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนทุกสิทธิ ในช่วงเดือน ก.พ.-ก.ย. 2564 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนคนไทยประมาณ 67 ล้านคน โดยคาดว่าจะช่วยลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวม เพราะจะมีบริการตรวจคัดกรอง และสนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายบริการน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว

“นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 หากภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 และเกิดผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรง ก็จะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือด้วย” โฆษกรัฐบาล กล่าว

พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้อนุมัติโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธาณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน โดยจะมีการจ่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 1575.4 ล้านบาท พร้อมเห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งพิจารณาฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ อสม. และ อสส. ทุกรายเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย