ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้อนรับคณะศึกษาดูงานนักวิชาการด้านระบบสาธารณสุข กว่า 50 คน จาก 10 ประเทศ เพื่อดูงานเรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จเพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์งานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพไทย เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ประเทศไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าในปี 2545 ปัจจุบันมีความครอบคลุมเกือบ 100% ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และช่วยให้จำนวนครัวเรือนที่ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยความสำเร็จ การจัดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เน้นการครอบคลุมกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบูรณาการร่วมกันของภาครัฐและเอกชนในการจัดบริการ่วมกัน การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพในการขับเคลื่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ สปสช.ได้นำเสนอ ความเป็นมาของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน ผอ.สำนักบริหารแผนและงบประมาณ, การบริหารจัดการด้านการเงินการคลังระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางกาญจนา ศรีชมภู หัวหน้ากลุ่มงาน สำนักบริหารแผนและงบประมาณ, การตรวจสอบและเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ โดย พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผอ.สำนักตรวจสอบการชดเชยและคุณภาพบริการ, การจัดการด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข นางปิยนุช โปร่งฟ้า ผอ.สำนักสนับสนุนคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการ และการคุ้มครองสิทธิประชาชน บริการสายด่วน 1330 โดย นางสาวดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผอ.สำนักบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ

ผู้ศึกษาดูงานสนใจสอบถามในประเด็น จำนวน รพ.ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สัดส่วน รพ.ในเขตเมืองและชนบท, สัดส่วน รพ.ภาครัฐและเอกชน, จำนวนการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์, สัดส่วนงบบริหารจัดการกับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1% ของกองทุน, บทบาทการทำงานระหว่าง สธ.และ สปสช., งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสัดส่วนการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ที่ สปสช.ดำเนินการคิดเป็นประมาณ 3% ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

การศึกษาดูงานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม 7th Annual Meeting of the Resilient and Responsive Health Systems (ESYST) Consortium (การประชุมประจำปีครั้งที่ 7 ว่าด้วยระบบสุขภาพที่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นและตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง) ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2560 จัดโดยความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine, University of London) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมและดูงานเป็นนักวิชาการด้านระบบสุขภาพจาก 10 ประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา เคนย่า แอฟริกาใต้ อังกฤษ ภูฏาน เมียนมาร์ ลาว เป็นต้น