ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนในราว พ.ศ. 2500 คงไม่มีใครไม่รู้จัก “คุณหมอเพียร” ดร.เพียร เวชบุล ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “แม่พระ” ของสตรี เด็ก และโสเภณี โดยเฉพาะในประเภทหลังนี้ ไม่มีสุภาพสตรีรายใดกล้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่คุณหมอซึ่งเป็นสาวโสดก็เข้าไปรับรู้ปัญหาอย่างใกล้ชิด

บางครั้งก็เข้าไปฉีดยาให้ถึงในสำนักโดยไม่รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ หรือแยแสต่อสายตาใคร จนถูกผู้ชายแมงดาจับโยนออกมา 

เมื่อครั้งไปดูงานที่อเมริกา ก็ยังเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนางบังเงากับเขาด้วย แม้ชายนักเที่ยวก็ได้รับการช่วยเหลือจากคุณหมอในเรื่องโรคที่ได้มาจากการไปหาความสนุก โดยเปิดสถานีอนามัยรักษากามโรคโดยเฉพาะขึ้นที่นางเลิ้ง 

คุณหมอเป็นผู้ก่อตั้งบ้านเกร็ดตระการ ที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อดูแลสงเคราะห์หญิงขายบริการและเด็กเร่ร่อน ไม่แต่คนไทยเท่านั้นที่ชื่นชมและยกย่อง คุณหมอยังได้รับรางวัลยกย่องจากต่างประเทศมากมาย

องค์กรต่างประเทศขอเข้ามาเยี่ยมชมกิจการมูลนิธิของคุณหมอ ฮอลลีวูดขอนำชีวิตของคุณหมอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ให้ชื่อว่า “ผู้หญิงมหัศจรรย์” นิตยสาร “รีดเดอร์ไดเจส” นำประวัติของคุณหมอไปพิมพ์โด่งดังไปทั่วโลก

คุณหมอเพียรเกิดในปี 2441 ที่ จ.ลำปาง ในครอบครัวที่มีฐานะดีของตระกูล “ฮุนตระกูล” เข้ามาเรียนที่โรงเรียนเสาวภา กรุงเทพฯ เมื่ออายุ 7 ขวบ แล้วไปจบ ม.6 ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จากนั้นไปสมัครเข้าเรียนแพทย์ที่โรงเรียนแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุที่เป็นสตรี เพราะขณะนั้นไม่มีสตรีเป็นแพทย์เลย

คุณหมอเพียรจึงไปเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชันคอนแวนต์และเซนต์โยเซฟคอนแวนต์อยู่ 2 ปี แล้วก็หนีพ่อไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน 1 ปีด้วยความช่วยเหลือของแม่ชี แล้วติดตามพระองค์หญิงพระชายาในกรมพระกำแพงเพชรอัคโยธินไปต่อที่ฝรั่งเศส เข้าศึกษาที่คณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปารีส

ช่วงนี้คุณหมอเพียรต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย แม้จะได้รับทุนของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อทุนหมดก็ต้องออกไปหางานทำ จนมีเงินจึงกลับมาเรียนต่อ สุดท้ายได้ทุนมหิดล และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงให้ความอุปการะในฐานะพระสหายสนิท จึงจบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต และประกาศนียบัตรวิชาแพทย์ชั้นสูง

คุณหมอได้กลับมารับราชการในปี 2480 ในตำแหน่งนายแพทย์โท กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย อีก 4 ปีต่อมาจึงย้ายสังกัดไปอยู่แผนกกามโรค กองแพทย์สังคม กระทรวงสาธารณสุข

ในการมาสังกัดแผนกใหม่นี้ ทำให้คุณหมอได้รับรู้ปัญหาของหญิงโสเภณีที่มารักษา ตลอดจนเด็กที่มีปัญหาการสมรสของพ่อแม่ ด้วยจิตใจที่เห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ นอกจากคุณหมอจะรักษาโรคแล้ว ยังช่วยรักษาปัญหาชีวิตให้ด้วย ซึ่งบางครั้งก็เป็นการช่วยด้วยกำลังทรัพย์

วันหนึ่งมีเด็กสาวจากครอบครัวผู้มีฐานะคนหนึ่งมาขอปรึกษาขอทำแท้ง เนื่องจากผิดหวังในความรัก คุณหมอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการทำบาป จึงแนะนำให้หญิงสาวผู้นั้นกลับไปปรึกษาแม่ก่อน แต่กลับแม่ดุด่าเสียจนชอกช้ำถึงขั้นกินยาตาย เมื่อคุณหมอทราบข่าวก็รีบไปนำเธอส่งโรงพยาบาล แต่ในที่สุดเธอก็เสียชีวิตในอ้อมกอดของคุณหมอ

ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์นี้ ทำให้คุณหมอเพียรตัดสินใจที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งท้องโดยมิได้ตั้งใจและอยู่ในวัยศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากมาย และจำเป็นต้องมีที่พักให้อยู่ชั่วคราวรอกำหนดคลอด โดยให้ความรู้ในการจะมีชีวิตครอบครัวก่อนกลับไปศึกษาต่อ และรับเลี้ยงดูเด็กที่เกิดนอกสมรส โดยตั้ง “มาตาภาวสถาน” ขึ้นในปี 2481 ต่อมาได้ตั้งเป็นมูลนิธิ ซึ่งกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ประทานนามใหม่ให้ว่า “พิระยานุเคราะห์มูลนิธิ”

เด็กกำพร้าที่คุณหมอรับอุปการะไว้นี้ บางคนก็ถูกทิ้งไว้โดยไม่รู้ที่มา คุณหมอจึงให้ใช้นามสกุลของท่าน และรับเป็นมารดาตามกฎหมาย โดยมีพลโทปุ่น วงศ์วิเศษ รับเป็นบิดาตามกฎหมาย แต่ญาติของคุณหมอขอให้ใช้นามสกุลอื่น “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงพระราชทานนามสกุล “เวชบุล” ให้เด็กกำพร้าเหล่านั้น คุณหมอเพียรก็เลยเปลี่ยนนามสกุลมาใช้เวชบุลตามบรรดาบุตรบุญธรรมทั้งหลายของท่านด้วย

ปรากฎว่าบุตรบุญธรรมของคุณหมอนี้มีถึงประมาณ 4,000 คน ในความอุปการะดูแลของมูลนิธิพิระยานุเคราะห์ไม่ให้มีปมด้อย มีการศึกษาที่ดี มี 5 คนเรียนจบจากต่างประเทศ กลับมาช่วยงานมูลนิธิ อีก 20 คนสำเร็จแล้วทำงานอยู่ต่างประเทศเลย มีผู้ขอไปเลี้ยง 34 คน พ่อแม่ของเด็กมารับไปเลี้ยงเอง 151 คน นอกนั้นต่างก็มีชีวิตที่ดี มีอยู่หลากหลายอาชีพ

ส่วนบ้านเกร็ดตระการ ที่คุณหมอเพียรมุ่งหวังที่จะสร้างทัศนคติใหม่ให้หญิงโสภณีกลับตัวกลับใจเลิกอาชีพนี้เสีย มีหญิงโสเภณีกว่า 2,000 คนที่แรกเข้ามามีเลือดบวกถึง 80 เปอร์เซนต์ แต่เมื่อผ่านบ้านเกร็ดตระการออกไป นอกจากหายจากโรคแล้ว กว่า 80 เปอร์เซนต์ยังเลิกประกอบอาชีพนี้ไปได้ และแต่งงานมีครอบครัวมีชีวิตที่ดีกว่า

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กและสตรีเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นภาระหนักของมูลนิธิ ทำให้ต้องตกเป็นหนี้ธนาคารออมสินถึง 3 ล้านบาท และหาเงินมาชำระตามกำหนดไม่ได้ ในปี 2507 จึงถูกธนาคารฟ้อง แต่เมื่อปรากฏข่าวนี้ขึ้น ประชาชนชาวไทยและต่างประเทศได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อชดใช้หนี้ให้ 3.5 ล้านบาท และร้อนไปถึงรัฐบาลที่ต้องเอาเข้าที่ประชุม ครม.หาทางช่วยเหลือ

ด้วยการอุทิศชีวิตทำการช่วยแก้ปัญหาของสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ ดร.เพียร เวชบุล จึงได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมากมาย เช่น ดำรงตำแหน่ง กรรมการสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กรรมการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมสตรีนานาชาติ ฯลฯ 

ได้รับรางวัลเกียรติคุณต่างๆ คือ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เหรียญกาชาดสรรเสริญ ปริญญาสังคมวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสภาจุฬาลงกรณ์ ประกาศนียบัตรรางวัลเพื่อมนุษยชาติ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย Ehwa womans University of Seoul ประเทศเกาหลีใต้ 

เป็นสตรีเอเซียคนแรกที่ได้รางวัล Spirit of Achievement จากมหาวิทยาลัยอัลเบิร์ทไอน์สไตน์แห่งเยชิวา นครนิวยอร์ค เครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยิอองออนเนอร์ จากฝรั่งเศส เหรียญทอง Women of the World จากสมาคมสตรีนานาชาติ ฯลฯ

แพทย์หญิง ดร.เพียร เวชบุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2527 ขณะอายุได้ 86 ปี

มูลนิธิพีระยานุเคราะห์ ได้รับการสานต่อโดย ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา รับเป็นประธาน โดยเข้าร่วมกับ “มูลนิธิพีระยา นาวิน” และขยายกิจการสถานที่รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนจากครอบครัวมีรายได้น้อยไปยังต่างจังหวัด เช่น เลย ลำปาง กาญขนบุรี และยังจัดสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านคลองชน ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว โคกป่าจิก ต.ปรือ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ บ้านสว่างใหม่ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน บ้านบูกาฮาแลแม ต.ปะโค อ.มายอ จ.ปัตตานี

นี่ก็เป็นเรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตเพื่อสังคม ทำงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่ก็สร้างชีวิตของคนอื่นให้มีความสุขขึ้นมาก และพลอยทำให้สังคมมีความผาสุกขึ้นด้วย เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างอาคารวัตถุใดๆ เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม สมกับคำยกย่องว่าเป็น “แม่พระ”