ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ส่งหนังสือชมเชย “ภก.รพ.สุราษฎร์ธานี” นำส่งยาต้านพิษยามวิกาล ทันช่วยผู้ป่วยแรงงานประมงจากภาวะพิษก๊าซไข่เน่ารอด 2 ราย “ภก.ประมนัส” เผย เหตุตัดสินใจ ทราบข้อมูลรักษาผู้ป่วยรับสารพิษมีเวลาจำกัด หากรับยาต้านพิษเร็วมีโอกาสฟื้นปกติได้ พร้อมระบุการช่วยผู้ป่วยครั้งนี้ไม่เกิดขึ้น หากไม่มีนโยบายจัดการยาต้านพิษ ที่ สปสช.ร่วมกับศูนย์พิษวิทยาฯ ดำเนิน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ด้าน ผอ.รพ.สุราษฎร์ ชื่นชมมีจิตสาธารณะ เป็นแบบอย่าง ทุกวิชาชีพมีหลายวิธีทำดีได้   

ภก.ประมนัส ตุ้มทอง กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ที่ได้ช่วยนำส่งยาต้านพิษในยามวิกาลว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558 เวลาประมาณเที่ยงคืน ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่าและจำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษเร่งด่วน ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นคลังสำรองยาต้านพิษ “โซเดียม ไนไตรท์” ที่ใช้รักษาภาวะพิษจากก๊าซไข่เน่าที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่รับรักษาผู้ป่วยมากที่สุด จึงประสานขอเบิกจ่ายยาเพื่อนำส่งยาให้กับผู้ป่วยโดยเร็ว แต่เนื่องจากช่วงเกิดเหตุเป็นยามวิกาล ไม่เคยมีมาก่อน และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีไม่ได้มีการจัดระบบส่งยาต้านพิษในช่วงกลางคืนรองรับไว้ ประกอบกับหากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษโดยเร็ว จะมีโอกาสฟื้นจากภาวะเป็นพิษจนหายเป็นปกติได้ จึงตัดสินใจขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อนำยาต้านพิษไปส่ง

ภก.ประมนัส กล่าวว่า แต่ด้วยวันรุ่งขึ้นมีภารกิจที่ต้องร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในช่วงเช้า ซึ่งและระยะทางระหว่างโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีกับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ห่างกันประมาณ 170 กิโลเมตร หากให้ขับไปถึงพรุ่งนี้คงไม่ไหว จึงได้ประสานขอให้โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นำรถออกมารับยาครึ่งทาง ซึ่งตนเองจะนำยาไปส่งไปที่ห้องยา แผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลหลังสวน แทน ทั้งนี้สาเหตุที่ตัดสินใจนำส่งยาด้วยตนเองทันที เนื่องจากในฐานะที่เป็นเภสัชกร และจากที่ได้เข้าอบรมความรู้สารพิษและยาต้านพิษ ซึ่งจัดโดยศูนย์พิษวิทยาฯ ทำให้ทราบถึงความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาโดยเร็ว นั่นหมายถึงโอกาสความปลอดภัยของผู้ป่วย ประกอบกับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานียังไม่มีระบบส่งยาต้านพิษในยามวิกาลด้วย

ทั้งนี้ในวันต่อมาได้รับทราบข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ซึ่งได้ติดตามเหตุการณ์และผู้ป่วยต่อเนื่องว่า ในเหตุการณ์นี้มีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่า 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 ราย ได้เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับปริมาณสารพิษจำนวนมาก ส่วนอีก 2 ราย พ้นขีดอันตรายแล้วหลังได้รับยาต้านพิษและภายใต้การรักษาของทีมแพทย์โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โดยผู้ป่วยเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมง ได้รับก๊าซไข่เน่าจากการลงไปใต้ท้องเรือเพื่อเก็บสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งใต้ท้องเรือเป็นพื้นที่ปิด หากมีสัตว์น้ำจำนวนมาก แต่ความเย็นไม่เพียงพอก็จะเกิดการหมักหมมสัตว์น้ำเหล่านี้จนเกิดก๊าซไข่เน่าได้ อย่างไรก็ตามหลังทราบข่าวรู้สึกดีใจกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยที่รอดชีวิต รวมถึงทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา 

ภก.ประมนัส กล่าวว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้หารือกับหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม เพื่อเตรียมรองรับกรณีเกิดเหตุต้องนำส่งยาต้านพิษในยามวิกาล โดยประสานงานกับฝ่ายดูแลรถของโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถนำส่งยาได้ทันทีหากมีผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษรักษาในเวลาจำกัด ขณะที่ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีเอง ได้มีการประชุมและทบทวนการเพิ่มจุดสำรองยาต้านพิษ โดยเฉพาะในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ทำประมง เป็นต้น จากแต่เดิมที่สำรองไว้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ที่ยังมีปัญหาการนำส่งยาให้กับโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาทันท่วงที

อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับก๊าซพิษไข่เน่าในครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น หาก สปสช.ไม่มีนโยบายด้านยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็น ที่ร่วมมือกับศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีดำเนิน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” โดยในส่วนยาโซเดียม ไนไตรท์ ได้จับมือร่วมมือกับสภากาชาดไทยในการผลิต เพราะแต่เดิมยาต้านพิษนี้ในโรงพยาบาลไม่เคยมีสำรองมาก่อน เพราะจัดซื้อไม่ได้ ไม่มีบริษัทยาผลิต เนื่องจากเป็นกลุ่มยากำพร้าที่มีการใช้น้อยมากและไม่ทำกำไร แต่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องเข้าถึงยา จึงนับเป็นนโยบายที่ช่วยผู้ป่วยได้มากและมีประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ในการรองรับความเสี่ยงจากภาวะสารพิษ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ 

ด้าน นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่บุคลากรในสังกัดได้รับการชื่นชมจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีในครั้งนี้ และขอชื่นชมในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ ซึ่งตรงกับนโยบายของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีที่เน้นการบริการที่ดี มีคุณภาพ และให้บุคลากรมีใจในบริการ โดยกรณีของ ภก.ประมนัส ถือเป็นตัวอย่าง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างก็มีหลายวิธีที่จะทำสิ่งดีได้เช่นกัน