ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผย สิทธิบัตรทอง ยกระดับบริการสุขภาพในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ผลความสำเร็จป้องกันโควิด-19 พิสูจน์ชัด พลิกคาดการณ์แพร่ระบาดในเรือนจำ ด้าน เลขาธิการ สปสช. ระบุกรมราชทัณฑ์จัดบริการสุขภาพในเรือนจำครบถ้วน มีสถานพยาบาลรองรับในเรือนจำ จัดระบบส่งต่อผู้ป่วย ช่วยผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิ พร้อมชื่นชมการป้องกันแพร่ระบาดโควิดในเรือนจำ วางระบบคัดกรองได้อย่างเข้มข้น

ที่เรือนจำพิเศษกลางกรุงเทพ – เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมพูดคุยถึงมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในเรือนจำในการบันทึกเทปรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ โดยมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมเยี่ยมชมสถานพยาบาลและการจัดการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกลางกรุงเทพ

นพ.วีระกิตต์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ได้ประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในการดูแลผู้ต้องขังก่อนจะเกิดการระบาด ซึ่งในเรือนจำทั่วประเทศรวมมีผู้ต้องขังประมาณ 380,000 คน และจากที่กรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกับ สปสช. ในการดำเนินการด้านสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับผู้ต้องขัง ทำให้มีงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นำมาสู่การพัฒนาและยกระดับการรักษาพยาบาลในเรือนจำซึ่งเป็นส่วนช่วยพลิกสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้จนถึงปัจจุบันมีรายงานพบผู้ต้องขังติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพียงรายเดียวคือที่เรือนจำกลางราชบุรี ต่างจากสถานการณ์ในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเน้นย้ำให้เรือนจำทั่วประเทศวางแผนการดูแล โดยในเรือนจำมีคนเพียง 2 กลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขัง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการตรวจคัดกรองเชื้อก่อโรคโควิด-19 แล้ว พร้อมวางระบบในการป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวด โดยกรณีผู้ต้องขังใหม่ก่อนการรับตัวสู่เรือนจำ นอกจากการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังต้องทำการกักตัวเฝ้าระวังอย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีการติดเชื้อก่อนที่นำส่งผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังที่ต้องออกไปภายนอก ทั้งกรณีส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล และขึ้นศาลพิจารณา

“ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีนโยบายให้ความสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ต้องขัง และที่ผ่านมาได้ร่วมกับ สปสช. เพื่อให้ได้รับสิทธิบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม ครอบคลุมผู้ต้องขังทุกคน ซึ่งจากความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมการแแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้ว” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิสุขภาพ รวมถึงกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มผู้ต้องขังนี้ ซึ่งจะได้รับการดูแลไม่ต่างจากคนข้างนอก เมื่อผู้ต้องขังไม่สบายจะมีการรักษาพยาบาล โดยในเรือนจำมีสถานพยาบาลรองรับ มีแพทย์หมุนเวียนและพยาบาลประจำคอยดูแล และในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อนยังมีการส่งต่อรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล เรียกว่าเป็นมาตรฐานของระบบบริการสาธารณสุขในเรือนจำที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วน แม้แต่กรณีที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ ยังมีการจัดระบบป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่ดี ซึ่ง สปสช.ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิประโยชน์คัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยเป็นไปตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันประชากรทุกกลุ่มไม่ว่าเป็นใคร เพราะหากเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและมีผู้ป่วยจำนวนมาก ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ยังได้เยี่ยมชมการจัดระบบป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพนับว่าทำได้อย่างเข้มข้นอย่างมาก ที่นี่มีผู้ต้องขังจำนวน 4,115 คน  มีการจัดระบบที่ดีทั้งการตรวจวัดไข้ การสวมหน้ากากอนามัย 100% โดยมีการแจกหน้ากากผ้าให้ผู้ต้องขังคนละ 2 ชิ้น การจัดเว้นระยะห่าง และยังมีการจัดพื้นที่เพื่อใช้ในการกักตัวเฝ้าระวังสำหรับผู้ต้องขังที่เข้าใหม่ โดยในส่วนของสถานพยาบาลในเรือนจำ มีพยาบาลประจำ 4 คน เภสัชกร 1 คน และนักจิตวิทยา 1 คน คอยให้บริการ และจะมีแพทย์หมุนเวียนจากโรงพยาบาลเข้ามาให้การตรวจรักษา ด้วยระบบเหล่านี้ทำให้ผู้ต้องขังแม้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางก็สามารถเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพได้