ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้คุณฟัง เป็นเรื่องของ “หนอม แก้วคำ” ชาวบ้านวัย 68 ย่าง 69 ยังไม่แน่ชัดว่า “นางหนอม” เป็นคนจังหวัดอะไร บ้างก็ว่ามาจากศรีสะเกษ บางก็ว่ารกรากเดิมของเธออยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ที่ผ่านมา นางหนอมมีสุขภาพแข็งแรงดี เธอแสวงหาความสุขตามอัตภาพและเศรษฐานะที่ค่อนข้างแร้นแค้น กระทั่งจู่ๆ ร่างกายเริ่มสำแดงอาการผิดปกติขึ้น แพทย์วินิจฉัยว่า เธอป่วยเป็นโรค “หัวใจรั่ว”

ที่จริงแล้ว นางหนอม สามารถใช้สิทธิ “บัตรทอง” เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต้นสังกัดได้ ซึ่งหากโรคร้ายแรงขึ้น โรงพยาบาลต้นสังกัดก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า ส่วนค่ารักษาพยาบาลนะหรือ ? แน่นอนว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลให้หมด เรื่องนี้จึงควรจะจบลงตามพล็อตที่วางไว้อย่างง่ายๆ ,แต่บางครั้งก็ไม่

เงื่อนปมและความซับซ้อนโดยมีชีวิตของ “หนอม แก้วคำ” เป็นเดิมพัน ตั้งต้นจากปัญหาสุดคลาสสิกคือ “ไม่มีบัตรประชาชน”

เมื่อไม่มีบัตรประชาชน ย่อมไม่มีตัวเลข 13 หลัก

เมื่อไม่มีตัวเลข 13 หลัก ก็เข้าไม่ถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง

นั่นหมายความว่า ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทุกบาท-ทุกสตางค์ เป็นเรื่องของเวรกรรมและชะตากรรมของนางหนอมเอง นางหนอมเริ่มต้นการรักษาที่โรงพยาบาลบางใหญ่ จากนั้นได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทรวงอก

แพทย์แต่ละโรงพยาบาลรักษานางหนอมตามมาตรฐานวิชาชีพและเต็มความสามารถ ข่าวดีก็คือโรงพยาบาลยินยอมที่จะ “ส่งต่อผู้ป่วย”

แตกต่างกับพฤติกรรมที่เคยมีการร้องเรียนบ่อยครั้ง คือโรงพยาบาลพยายามยื้อการรักษา บ่ายเบี่ยงที่ส่งต่อ เพราะไม่อยากตามไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลที่ส่งต่อ

กลับมาที่นางหนอม ตลอดชีวิตของเธอมีการย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง แรกทีเดียวเธอแต่งงานมีบุตร จากนั้นก็เลิกร้าง โดยสามีเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรสาว

นางหนอม ได้ย้ายสถานที่พำนักไปจังหวัดอื่น ก่อนจะแต่งงานใหม่อีกครั้ง และอีกครั้ง

“ฉันมาจาก จ.ศรีสะเกษ มาอยู่กับลูกสาวที่อำเภอบางใหญ่ ได้ 4-5 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาป่วยเป็นโรคหัวใจรั่วได้ประมาณปีกว่าๆ” นางหนอม เล่าให้ฟัง

สำหรับลูกสาวที่นางหนอมเอ่ยถึง หมายถึงลูกสาวที่มีกับสามีคนแรก ปัจจุบันยังชีพด้วยการเย็บผ้าโหล เมื่อลูกสาวเธอทราบข่าวการเสียชีวิตของสามีนางหนอม จึงไปตามตัวกลับมาดูแล

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องกรำงานหนักเพื่อหาเงินมาซื้อเวลาให้ตัวเองหรือคนที่ตัวเองรัก แต่โชคยังดีที่ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5)” ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

แล้วหน่วยที่ว่านี้ทำอะไรได้บ้าง ?

จริงๆ แล้ว หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50 (5) มีหน้าที่หลักๆ คือการตรวจสอบสิทธิ ช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญคือการรับเรื่องร้องเรียน ประสานงานต่างๆ

หรือในกรณีที่โรงพยาบาลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ก็จะส่งต่อเรื่องให้ “คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

กลับมาที่นางหนอมอีกครั้ง เมื่อเงินในกระเป๋าเป็นตัวกำหนดวาสนาและชะตากรรม นางหนอมและบุตรสาวจึงยากลำบากกับการหาเงินมาค่ารักษาพยาบาลมาก

แต่อย่างที่บอกว่า โชคดีที่กฎหมายบัตรทอง (พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545) ได้กำหนดให้มีการตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ขึ้น ... และเรื่องของนางหนอม ก็เข้าสู่การดำเนินการของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ แล้ว

ด้วยต้นทางของนางหนอมอยู่ที่ จ.นนทบุรี จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.นนทบุรี ซึ่งดูแลครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอ

จินตนา กวาวปัญญา ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จ.นนทบุรี เล่าว่า ได้รับการประสานมาจากเครือข่ายฯ ซึ่งเบื้องต้นได้พูดคุยกับนางหนอม และบุตรสาวแล้ว

ปัญหาของนางหนอมคือ “ไม่มีบัตรประชาชน” ฉะนั้นเป้าหมายของหน่วยฯ ก็คือพยายามตามหา “บัตรประชาชน” ให้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น นางหนอมเล่าว่าเคยมีบัตรประชาชน แต่เมื่อตรวจสอบในทะเบียนราษฎร์ กลับไม่พบชื่อเธอ

“มีความเป็นไปได้หลายอย่างมาก เช่น สะกดชื่อตัวเองไม่ถูก อ่านออกเสียงไม่ตรงกับชื่อที่ได้แจ้งไว้ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด สิ่งที่จะทำได้ตอนนี้คือการเดินทางไป จ.ศรีสะเกษ เพื่อตามหาหลักฐานและร่องรอยอดีต” จินตนา ระบุ

ขณะนี้ “จินตนา” ได้ประสานภาคีเครือข่าย จ.ศรีสะเกษ ไปแล้ว ทั้งเครือข่ายของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.ศรีสะเกษ รวมถึงภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติม

“จากนี้ก็จะพาคุณป้าจินตนาไปศรีสะเกษเพื่อตามหาญาติๆ ก่อน ซึ่งป้าบอกว่าพอจำได้ว่าเคยอยู่ที่ไหน และจากการประสานไปยังเครือข่ายที่ จ.ศรีสะเกษ พบว่าแม้บ้านเดิมที่นางหนอมเคยอยู่อาศัยกับสามีถูกขายไปแล้ว แต่ยังมีชาวบ้านในละแวกนั้นที่ยังจำได้

“ถ้าเราทราบต้นตอหรือพบญาติของนามหนอมก็อาจมีการขอตรวจดีเอ็นเอยืนยัน ถ้าดีเอ็นเอตรงกัน ทางอำเภอหรือผู้นำชุมชนก็ต้องรับรอง ซึ่งจะเป็นเรื่องง่ายในการขอทำบัตรประชาชน และเข้าถึงสิทธิบัตรทอง” จินตนา อธิบาย และว่า จะดำเนินการทันทีหลังรัฐบาลผ่อนปรนการเดินทางข้ามจังหวัด

จนถึงบรรทัดนี้ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหนทางข้างหน้าของนางหนอมจะเป็นอย่างไร แต่ที่มั่นใจได้ก็คือนางหนอมและครอบครัวจะไม่โดดเดี่ยว

เพราะอย่างน้อย นางหนอมก็มีคนอย่างจินตนาเป็นกัลยาณมิตร และมี “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5)” ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นกำแพงพิงหลังให้กับประชาชน