ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหญ่ๆ อยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ

ทั้ง 3 ระบบนี้ ทำให้คนไทยเกือบทั้งหมด หรือราว 99.67% เป็นผู้มีหลักประกันด้านสุขภาพทั้งสิ้น

นั่นหมายความว่า คนเหล่านี้จะเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยา ที่สำคัญคือจะไม่ล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหญ่ๆ 3 ระบบ แต่ทั้ง 3 ระบบก็มีความแตกต่างกัน ทั้งอุดมการณ์ตั้งต้น ข้อกฎหมาย ประสิทธิภาพและความคล่องตัวของหน่วยงานบริหารจัดการ

ว่ากันตามข้อเท็จจริง ระบบที่ดูเหมือนว่าจะถูกออกแบบมาให้ “ยึดโยง” และ “เป็นเนื้อเดียว” กับผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญ ก็คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคน

ที่บอกว่าระบบถูกออกแบบมานั้น หมายความว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดเอาไว้ว่า สปสช. ต้องรับฟังความคิดเห็น “ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ” เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการจัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการทุกปี

นอกจากการจัดประชุม สปสช. ยังพัฒนากระบวนการสู่ “การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางระบบออนไลน์” และล่าสุดในยุคสมัย New normal ก็มีการพัฒนากระบวนการไปอีกระดับหนึ่ง

แน่นอนว่า โควิด-19 ได้เข้ามาท้าทายระบบสุขภาพทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็สามารถข้ามผ่านบททดสอบในชั้นแรกไปได้ แต่กระนั้นก็ยังมีร่องรอยของความเดือดร้อน-ความเจ็บปวดปรากฏอยู่ โดยเฉพาะกับ “กลุ่มคนเปราะบาง”

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้เปิดรับฟังความเห็นทั่วไปประจำปี 2563 หัวข้อ “หลักประกันสุขภาพคนพิการในยุค New normal" ผ่านทาง facebook live โดยมีผู้พิการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมชมการประชุมและแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก

นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็น และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อธิบายว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ สปสช.ดำเนินการทุกปี เพื่อขยายการมีส่วนร่วม และนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนานโยบายการจัดบริการ

สำหรับปี 2563 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์กับ “กลุ่มคนพิการ” เพื่อให้คนพิการและผู้ดูแลทั่วประเทศ เสนอแนวคิด ปัญหา ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในวิถีใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการให้เหมาะสมกับคนพิการมากขึ้น

มีความคิดเห็นที่น่าสนใจจาก มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันเรื่องการฟื้นฟูสมรรภภาพโดยวิธีทางการแพทย์ และถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์​รวมสุขภาพโลก หากแต่ข้อเท็จจริงก็คือเรื่อง “กายอุปกรณ์” และ “เครื่องช่วยความพิ การ” กลับมีการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

“คิดว่า สปสช.ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ ต้องช่วยผลักดันการวิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงเรื่องยาสำหรับผู้พิการทางจิตสังคม ยาบางตัวในบัญชียาหลักแห่งชาติยังมีคุณภาพไม่ค่อยดี ส่วนยาดีที่มีผลข้างเคียงน้อยก็ไม่อยู่ในบัญชียาหลักฯ ทำให้ผู้พิการทางจิตสังคมที่มีรายได้น้อยมีโอกาสได้รับยาคุณภาพดีน้อย” สว.มณเฑียร ระบุ

นอกจากนี้ สว.มณเฑียร ยังแนะนำให้ สปสช.ดำเนินการเรื่อง “หน่วยร่วมบริการ” อย่างจริงจัง คือบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ชั้นสูง แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิต การส่งต่อความชำนาญ ทักษะการใช้ชีวิตของผู้พิการ ซึ่งศูนย์บริการคนพิการถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น สามารถสอดประสานข้ามกระทรวงหรือกับกฎหมายอื่นๆ ได้ ขณะที่ สปสช. เองก็เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น จริงๆ น่าจะเกิดความร่วมมือที่เป็นพลังบวก มีการ Empower ภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่

ในประเด็นเดียวกันนี้ สุจิน บุญมาเลิศ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เล่าว่า จ.สระบุรี ได้ก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรีในปี 2556 ตัวอย่างโครงการเด่นๆ อาทิ โครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อตั้งศูนย์ร่วมสุขให้ครบทุกตำบล เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ให้คนพิการได้ใช้ในพื้นที่โดยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัด คาดว่าในปี 2564 จะดำเนินการได้ครบทุกตำบลใน จ.สระบุรี

สำหรับโครงการเพื่อผู้พิการยังทำได้อีกหลากหลาย อย่างที่ จ.สระบุรี ได้ทำโครงการพัฒนาศักยภาพนักฟื้นฟูสุขภาพชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่จะลงไปดูแลผู้พิการในพื้นที่ โครงการซ่อมรถเข็น รถโยกสำหรับผู้พิการ โครงการฝึกอบรมภาษามือแก่ผู้พิการทางการได้ยิน โครงการจัดทำขาเทียมที่สามารถจัดทำให้แล้วเสร็จใน 2 วัน โครงการเตรียมผู้พิการเพื่อเข้าสู่ระบบการทำงาน ฯลฯ

วีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 2 ล้านคน เมื่อลงทะเบียนในระบบบัตรทองแล้วหากเข้าข่ายคนพิการก็จะได้สิทธิเฉพาะเพิ่ม เช่น ได้รับกายอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ 76 รายการ และสิทธิในการได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 9 รายการ รวมถึงสามารถเข้ารับบริการจากหน่วยบริการใดก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ

“สปสช.ให้ความสำคัญและรับฟังเสียงสะท้อนจากการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ข้อเสนอจากผู้พิการในปีก่อนๆ เราได้นำไปปรับปรุง ฉะนั้นเสียงสะท้อนที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็จะได้นำไปสู่การพัฒนาสิทธิและบริการของผู้พิการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต” วีระชัย ระบุ

ด้าน นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วย รมว.สธ. ชี้แจงถึงแผนพัฒนาการดูแลสุขภาพคนพิการปี 2560-2564 ของ สธ. โดยมีด้วยกัน 5 ยุทธศาสตร์

ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบบริการให้คนพิการเข้าถึง 2. ส่งเสริมคนพิการเข้าใจสิทธิประโยชน์ 3. พัฒนาสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และข้อมูลข่าวสารคนพิการในหน่วยบริการ 4. พัฒนาวิจัยนวัตกรรมด้านสุขภาพคนพิการ 5. ส่งเสริมให้หน่วยบริการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลคนพิการ

ดังนั้น สปสช.ในฐานะเป็นผู้ถืองบประมาณ ก็ต้องสนับสนุนเงินไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ คือต้องสนับสนุนพัฒนาระบบบริการ สร้างการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ดูแลประชาชนในพื้นที่ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของคนพิการ