ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากเหนื่อยหน่ายกับการไปโรงพยาบาล ก็คือ “คนแน่น-รอนาน”

เพื่อที่จะเดินทางไกลไปพบแพทย์และรับยา ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ตื่นก่อนฟ้าสาง หอบเอกสาร อาหาร และสัมภาระพะรุงพะรัง

กว่าจะเช็คสิทธิ ตรวจร่างกายเบื้องต้น รอพยาบาลเรียก กระทั่งพบแพทย์ และได้รับยาแบบเดิมกลับมาอีก 1 ชุด ก็ปาเข้าไปเกินครึ่งค่อนวัน

ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามแก้ไข นำมาสู่การเข็นเทคโนโลยีจำนวนมากออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบคิวใน Smart Hospital ซึ่งล้อเลียนมาจากระบบคิวของธนาคาร-ร้านอาหาร หรือแม้แต่การคิดค้นแอปพลิเคชั่นสำหรับนัดหมายล่วงหน้า เรียกคิวแบบเรียลไทม์ ฯลฯ

แต่ทว่า ปัญหาก็ทุเลาลงได้เพียงระดับหนึ่ง

สำหรับชนวนที่ทำให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาล บาปมักตกอยู่กับ “ระบบบัตรทอง” ซึ่งมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแล

มีการพูดกันถึงขั้นว่า ... คนส่วนใหญ่เห็นแก่ของฟรี เมื่อบัตรทองรักษาฟรี คนจึงแห่กันมาโรงพยาบาลทั้งที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ

ตรรกะดังกล่าวตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับผลการวิจัยและผลสำรวจหลายต่อหลายชิ้น ที่บ่งชี้ตรงกันว่า “ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล” เพราะการไปโรงพยาบาลย่อมหมายถึงเงิน เวลา แรงงาน และค่าเสียโอกาส

ยิ่งเป็นคนจนด้วยแล้ว ยิ่งตกระกำลำบากมากกว่าอีกหลายคำรบ เพราะสำหรับ “คนจน” แล้ว ความจริงของชีวิตมักจะจริงและรุนแรงเกินไปเสมอ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระยะแรก “ระบบบัตรทอง” จะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคนนอก หากแต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันได้หักล้างมลทินเหล่านั้นจนหมดสิ้น

มากไปกว่านั้นก็คือ ระบบบัตรทอง – สปสช. กลับเป็น “ฟันเฟือง” หรือ “ตัวจักร” สำคัญ ที่ช่วยคลี่คลายปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล

“โครงการรับยาใกล้บ้าน” หรือชื่อเต็มคือ โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ ที่นำร่องมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 นับเป็นตัวอย่างที่ดี

หลักการง่ายๆ ของโครงการรับยาใกล้บ้าน ก็คือต้องเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ต้องป่วยด้วยโรคเรื้อรัง-จิตเวชแต่ดูแลตัวเองดีจนภาวะคงที่ ที่สุดแล้วต้องขึ้นอยู่กับวินิจฉัยแพทย์

สำหรับการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เดิมมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. โรงพยาบาลจะจัดยาเป็นรายบุคคลส่งมารอไว้ที่ร้านยา 2. โรงพยาบาลสำรองยาไว้ที่ร้านยาและให้ร้านยาเป็นผู้จัดตามใบสั่งยา โดย สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลละ 3.3 หมื่นบาทต่อร้านยา และให้กับร้านยา 70 บาทต่อใบสั่งยา

ย้อนกลับไปตั้งแต่นำร่องโครงการ 1 ต.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 130 แห่ง ร้านยา 1,033 แห่ง และมีผู้ป่วยที่รับยาที่ร้านยาใกล้บ้านไปแล้ว 14,391 ราย โดยมากกว่า 80% เป็นการรับยาในรูปแบบที่ 1 มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำในรูปแบบที่ 2 ด้วย

แม้ว่าทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยให้คนไข้ไม่ต้องไปกระจุกตัวแน่นที่ห้องยาในโรงพยาบาล แต่ก็ยัง “ไม่สามารถลดภาระงาน” ของโรงพยาบาลที่ยังต้องบริหารจัดการยาได้

สปสช. จึงเสนอรูปแบบที่ 3 คือ การให้ร้านยาจัดการแทนโรงพยาบาล ผ่านหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. มั่นใจว่าแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ภายในปี 2563 นี้ เราตั้งเป้าที่จะนำร่องการรับยาในรูปแบบที่ 3 ให้เกิดขึ้นจริงใน 6 โรงพยาบาลให้ได้ และหนึ่งในนั้นคือโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

สาเหตุที่ทำให้ นพ.ศักดิ์ชัย มั่นใจ เป็นเพราะโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี สามารถกระจายผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านได้สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

“รพ.พระจอมเกล้า เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการนำร่องรูปแบบที่ 3 ได้ โดยมีร้านยาในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่าย 14 แห่งในช่วงแรก สปสช. จะสำรองเงินให้ร้านยาละ 8,000 บาทต่อปี เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเริ่มต้น จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เล่าว่า โรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินโครงการรับยาใกล้บ้านในรูปแบบที่ 1 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 ช่วงแรกคนเข้าร่วมไม่มาก แต่จากการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทำให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 140 ครั้ง เว้นแต่ช่วงโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นเป็น 598 ครั้ง ในเดือน เม.ย. 2563

“ขณะอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่รูปแบบที่ 3 รวมถึงการเตรียมระบบออนไลน์ที่รับ-ส่งข้อมูล ระหว่างโรงพยายาลกับร้านยาได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะพร้อมได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้” ผอ.โรงพยาบาลพระจอมเกล้า เล่าความคืบหน้า

ด้าน นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี บอกว่า โครงการรับยาใกล้บ้านช่วยทั้งในเรื่องของการเพิ่มระยะห่าง และลดความแออัดของโรงพยาบาล คาดหวังว่าการดำเนินในรูปแบบที่ 3 นี้จะได้รับความร่วมมือมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่ง รวมไปถึงร้านยาอีก 102 ร้านในจังหวัด