ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงเพชรบุรีเยี่ยมการฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือ “อสว.” รุ่น 1 หนุนพระสงฆ์ดูแลสุขภาพด้วยกันเอง ผ่านการฝึกอบรมความรู้-ปฏิบัติจริง แบบ “อสม.” พร้อมมอบเครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติ แปลผลสู่สมาร์ทโฟน-ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีถวายเกียรติบัตรและลงพื้นที่เยี่ยมการจัดฝึกงาน พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) หรือพระคิลานุปัฏฐาก รุ่น 1 ของ จ.เพชรบุรี เพื่อดูแลพระที่อาพาธ เฝ้าระวัง และร่วมให้คำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ

ทั้งนี้ สปสช.ได้มีการสนับสนุนการบูรณาการอบรมถวายความรู้แก่พระ อสว. และมีนโยบายกระตุ้นสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในทุกมิติ ตั้งแต่กลุ่มที่ยังไม่ป่วย กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยแล้ว โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ศึกษาข้อมูลและประสานงาน

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการมอบเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ นำร่องในพื้นที่ต่างๆ โดย สปสช. ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการสร้างนวัตกรรมเครื่องตรวจ ซึ่งประกอบด้วยการวัดความดันโลหิต อัตราเต้นของหัวใจ วัดดัชนีมวลกาย โดยผลจะถูกแปลค่าและถ่ายโอนสู่สมาร์ทโฟนเพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า พระคิลานุปัฏฐาก เป็นการผสมผสานวิถีการดูแลกันระหว่างพระตามหลักพระพุทธศาสนา ร่วมกับวิถีทางการแพทย์สมัยใหม่ โดยหลักสูตรจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการให้ความรู้และฝึกทักษะขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ คล้ายกับการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่เดิม

“พระสงฆ์เองก็เจอปัญหาด้านสุขภาพคล้ายกับฆราวาส คือส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน โรคปอด ความคาดหวังของเราคือพระที่ป่วยเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แต่พระสามารถดูแลกันเองภายในวัดได้ รวมถึงยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้าน นอกจากได้เข้าวัดมาทำบุญ สวดมนต์ ฟังธรรมแล้ว ยังได้เห็นตัวอย่างรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ดี วิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกสุขลักษณะ” นพ.ประจักษวิช กล่าว

นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จ.เพชรบุรี มีวัดทั้งหมด 275 วัด เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพจำนวน 98 วัด หรือราว 35% โดยในปีนี้ได้เริ่มฝึกอบรมพระ อสว. จำนวน 190 รูป ซึ่งจะฝึกได้ครบกำหนดภายในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากที่ต้องเว้นระยะไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเป้าหมายในอนาคตคือการมีพระ อสว. วัดละ 2 รูป หรือประมาณ 550 รูปใน จ.เพชรบุรี

นพ.เพชรฤกษ์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติย้อนหลังพบว่าพระสงฆ์มีอัตราการป่วยเหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยมักจะป่วยตามอัตภาพ มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เบาหวาน ความดัน โรคทางหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคมะเร็ง ซึ่งการมีพระ อสว. คอยให้การแนะนำเหมือนกับ อสม. จะช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ได้ดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกันโรค และร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยงจากการรับของบิณฑบาตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“การมีพระคิลานุปัฏฐาก หรือ อสว. จะช่วยให้พระได้คัดกรองสุขภาพกันเองในเบื้องต้น จากเดิมที่เมื่ออาพาธก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่มีการดูแลในเชิงรุก ซึ่งพระ อสว. จะผ่านการเรียนรู้ด้านสุขภาพเหมือนกับ อสม. และต้องไปฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน หรือ รพ.สต.ในพื้นที่ ให้สามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้กับพระภายในวัดหรือภายในพื้นที่ได้ โดยอีกประมาณ 2 เดือนเมื่อจบหลักสูตรนี้ ก็จะมีการประเมินและอบรมรุ่นต่อไป” นพ.เพชรฤกษ์ ระบุ

ด้าน นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านลาด กล่าวว่า เบื้องต้นพระ อสว. จะได้เรียนรู้ในการวัดความดัน วัดสัญญาณชีพ วัดอุณหภูมิ หรือเจาะเลือด คล้ายกับ อสม.ทั่วไป แต่ด้วยความเป็นพระจะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกกว่าพยาบาลที่เป็นสุภาพสตรี ขณะเดียวกันยังเข้าใจในความเป็นพระ ที่จะสามารถสื่อสารและประยุกต์ให้เข้ากับวิถีได้ลึกซึ้งกว่า โดยโรงพยาบาลจะช่วยสนับสนุนและประสานงาน

อนึ่ง การดูแลสุขภาพพระสงฆ์เป็นส่วนที่ได้รับความสำคัญ โดยมีการขับเคลื่อนผ่านธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 สอดคล้องกับมติมหาเถระสมาคม มติที่ 191/2560 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางการสร้างสุขภาวะให้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 3 แสนรูป ในการดูแลสุขภาพสงฆ์ด้วยตนเอง ด้วยรูปแบบของการสร้างพระคิลานุปัฏฐาก