ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า งบประมาณด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอกำลังบ่อนทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรโลก

ช่องโหว่ด้านสาธารณสุขเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับโลก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาว

แม้หลายประเทศพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตนเพื่อรับมือวิกฤติสาธารณสุขที่จะมาถึงในอนาคต ทว่าการพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่มองข้ามการลงทุนพื้นฐานในระบบสุขภาพ

ดร.เทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกชี้ว่าวิกฤติไวรัสโคโรนาเผยให้เห็นบทบาทสำคัญของระบบสุขภาพทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และว่า ระบบสุขภาพทั้ง 2 ระดับถือเป็น “รากฐานความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอนามัยโลกย้ำหลายครั้งว่าการรับมือกับ COVID-19 นั้นต้องอาศัยแนวทางเชิงบูรณาการซึ่งรวมถึงระบบสุขภาพที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์และบุคลากรที่มีความสามารถ ระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งเป็น 1 ใน 6 องค์ประกอบสำคัญ (ร่วมกับการตรวจโรคและติดตามการรับเชื้อ) สำหรับจัดการกับการแพร่กระจายของไวรัสในทุกช่วงของการระบาด

ระบบสุขภาพที่มั่นคงยังมีความสำคัญอย่างยิ่งแม้พ้นจากวิกฤติไวรัสโคโรนาไปแล้ว “ระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งและมั่นคงไม่เพียงป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างดีที่สุด แต่ยังขัดขวางภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ประชากรโลกเผชิญอยู่ในทุกวันนี้”

รายงานฉบับหนึ่งของสหประชาชาติประเมินว่าประชาชนกว่า 5 พันล้านคนจะไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นภายในปี 2573 ซึ่งบริการดังกล่าวรวมถึงการปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ การเข้าถึงยาและน้ำประปาในโรงพยาบาล

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รายงานเรื่อง 2020 State of the World's Nursing ประเมินว่าทั่วโลกจะต้องบรรจุพยาบาลอีกกว่า 6 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุข และว่าปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์กำลังส่งผลอย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

ในปีนี้โลกยังพบกับบททดสอบใหม่จากการที่ความพยายามพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 ชะลอโครงการวัคซีนอื่น ในกรณีเลวร้ายที่สุดนั้นคาดว่าการเสียชีวิตจากมาลาเรียในภูมิภาคตอนล่างของทะเลทรายสะฮาราอาจเพิ่มขึ้นเป็นทั่วตัวจากการชะลอตัวของโครงการพัฒนามุ้งกันยุงเคลือบยาฆ่าแมลงและปัญหาการเข้าถึงยาต้านมาลาเรีย

ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขราวปีละ 7.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือราวร้อยละ 10 ของจีดีพี แม้งบประมาณสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ช่องโหว่ด้านสาธารณสุขที่เป็นอันตรายก็ไม่ได้หายไปไหนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือเขตข้อพิพาทซึ่งมีปัญหาด้านการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและขาดแคลนสถานพยาบาล

รายงานเรื่อง Primary Health Care on the Road to Universal Health Coverage โดยสหประชาชาติเผยว่าการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเพียงปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์อาจลดตัวเลขเสียชีวิตได้ถึงปีละ 60 ล้านราย

ผู้อำนวยการใหญ่อนามัยโลกยังชี้ด้วยว่าช่องโหว่ด้านสุขภาพนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาในระยะยาว “ช่องโหว่ด้านสุขภาพไม่เพียงบ่อนทำลายสุขภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน แต่ยังทำให้ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอยู่ในภาวะเสี่ยง”

“การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษา ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าและเป็นแนวทางที่ดีที่สุด” ดร.เกเบรเยซุส กล่าว

“การระบาดใหญ่ของ COVID-19 จะจบลงในที่สุดแต่ทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

แปลจาก

COVID-19 reveals gaps in health systems: WHO Briefing