ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ร่วมแนะแนวทางผู้ป่วยโควิด-19 ทำ "Home Isolation" ระหว่างรอต้องแยกตัวจากครอบครัว-ลดการแพร่เชื้อ มีความกังวลให้ปรึกษาแพทย์-พยาบาล บริหารจัดการความเครียด


ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เปิดเผยในการเสวนา “ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ ถ้าจำเป็นต้องกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยทั้งตัวผู้ติดเชื้อและครอบครัว” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบ Home Isolation จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทางทีมแพทย์และพยาบาลจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของอาการ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะสามารถจัดเตรียมเตียง หรือเตรียมส่งต่อผู้ป่วยได้ โดยในระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ใน Home Isolation นั้นจะมีสอบถามอาการโดยพยาบาล 2 ครั้ง และแพทย์ 1 ครั้งต่อวัน รวมไปถึงมีบริการอาหารครบทั้ง 3 มื้อ

ผศ.พญ.สายพิณ กล่าวว่า การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าติดเชื้อและกำลังรอการติดต่อกลับ หรือผู้ป่วยที่ประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงและกำลังรอยืนยันผลนั้น ควรจะต้องแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากผู้อื่นหรือคนในครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ แต่ในกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ส่วนรวมควรจะต้องใช้เป็นคนสุดท้าย

"ทางรามาฯ เองกำลังจะเริ่มทำ Community Isolation เพื่อรอรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถแยกตัวจากคนในครอบครัวได้ โดยจะรับผิดชอบทั้งหมดใน 9 ชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และสมาชิกในชุมชน เข้ามาช่วยดูแล โดยจะเช่าพื้นที่มหาวิทยาลัยบางแห่งเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวชุมชน และมีทีมแพทย์ พยาบาลคอยให้คำปรึกษา" ผศ.พญ.สายพิณ ระบุ

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า การทำ Home-Community Isolation จะมีทีมแพทย์เข้าไปเสริมเรื่องการทำ Telehealth เพื่อให้การรักษาตามความรุนแรงของอาการ เช่น เมื่อเริ่มมีอาการก็จะสั่งยาฟาวิพิราเวียร์ โดยจะมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่จะสามารถนำยาดังกล่าวไปส่งให้ผู้ป่วยได้ เพื่อจุดประสงค์หลักคือลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 

"สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์นั้น จะประสานงานไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อให้จัดเตรียมยา แล้วจึงนำยาไปให้ผู้ป่วยตามบ้าน พร้อมกับพยาบาลที่จะร่วมเดินทางไปด้วยเพื่ออธิบายวิธีการใช้ยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วย" พญ.นิตยา กล่าว

รศ.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กล่าวว่า ในส่วนของความเครียดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างการทำ Home Isolation ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ซึ่งในบางการครั้งการกระทำบางอย่างอาจทำให้ร่างกายแย่ลงและเกิดความเครียดมากขึ้น โดยในบางกรณีอาจทำให้พื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เช่น นอนดึก หรือไม่อยากอาหาร

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานหลักในการดูแลตัวเองระหว่างทำ Home Isolation คือพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ และออกกำลังกายตามสมควร ในกรณีที่เกิดความกังวลก็สามารถปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลได้ ซึ่งคำแนะนำแก่ผู้ป่วยคือพยายามรักษาจังหวะชีวิตให้ปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ลดการค้นหาข้อมูลในกรณีที่เกิดความกังวล เป็นต้น 

"อยากให้มองว่าการที่เรากำลังทำ Home Isolation คือเรากำลังเสียสละและช่วยชีวิตคนจำนวนมาก ในการให้ผู้อื่นมีโอกาสเข้าถึงเตียงมากขึ้น อย่าไปบังคับตัวเองไม่ให้เครียด เพราะความเครียดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เครียดได้แต่ต้องบริหารจัดการความเครียด" รศ.นพ.นันทวัช กล่าว

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้วางระบบเพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริการ สำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่น งบประมาณในการสนับสนุนเครื่องวัดออกซิเจนแบบปลายนิ้ว เครื่องวัดอุณหภูมิ เป็นต้น รวมไปถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารตลอด 14 วัน ครอบคลุมทั้ง Home Isolation และ Community Isolation

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถโทรเข้ามาที่เบอร์สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อเป็นการลงทะเบียน จากนั้นรายชื่อของผู้ป่วยจะถูกกระจายไปตามหน่วยบริการตามที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วย โดยคลินิกหรือหน่วยบริการนั้นจะติดต่อไปหาภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะพยายามพัฒนาระบบให้เร็วขึ้นในอนาคต 

"กรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่บ้านแล้วอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สปสช.ยังคงจัดระบบเดิม โดยทางคลินิกจะต้องดำเนินการประสานกับหน่วยบริการแม่ข่าย เพื่อรับผู้ป่วยเข้าไปรักษาต่อในโรงพยาบาล ซึ่งสายด่วน 1330 ยังคงทำทั้งในเรื่องของการคัดกรอง และจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย ดังนั้นภาพรวมระบบนี้จะยังคงอยู่และไม่ทิ้งผู้ป่วยให้อยู่กับคลินิกอย่างเดียว" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว