ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 (ตามเวลาประเทศไทย) เพิ่มคำเตือนในเอกสารข้อเท็จจริง วัคซีนโควิด-19 ของ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” หลังพบความเสี่ยงอาจะมีความเป็นไปได้ในการเกิดโรคทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นได้ยาก ในช่วง 6 สัปดาห์ภายหลังได้รับวัคซีน

สำหรับโรคดังกล่าว เป็นกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre syndrome :GBS) คือกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เกิดความผิดปกติ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักจะเกิดจากการติดเชื้อในกระเพาะลำไส้อักเสบ หรือการติดเชื้อในปอด

ผลของอาการดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณแขน ขา ในบางรายอาจร้ายแรงจนกลายเป็นอัมพาต และมักจะเกิดอาการภายใน 6 สัปดาห์หลังจากการได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ทั้งนี้ การประเมินลักษณะโรคทางคลินิกที่เป็นลักษณะเด่นของ GBS คือมีอาการอ่อนแรงโดยเฉียบพลัน โดยอาการอ่อนแรงมักจะเริ่มจากขา ลุกลามมาที่แขน และลำตัวในที่สุด ซึ่งอาการอ่อนแรงจะมีลักษณะเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง พร้อมกันนั้นยังมักพบว่ามีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหาร ก่อนมีอาการราว 1-3 สัปดาห์

หลังจากเริ่มแสดงอาการในระยะต้น เช่น เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการของผู้ป่วยก็จะทรุดลงใน 2-4 สัปดาห์ จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงสงบของโรคและระยะฟื้นตัวใน 2-4 สัปดาห์ต่อมา อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแย่ลงมากภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มอาการ GBS นั้น ไม่มียาหรือวิธีรักษาเฉพาะ แต่ร่างกายของคนเราจะสามารถเยียวยาตนเองให้หายได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู ดังนั้นแนวทางในการรักษานั้นจึงทำได้ด้วยการประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง และช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

แนวทางการประคับประคอง เช่น เข้ารับการทำกายภาพบำบัด เพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจจะรับยาบรรเทาอาการปวดและป้องกันเกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่ม ในระหว่างที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ เป็นต้น

กลุ่มอาการ GBS นี้ สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งอาการ GBS ไม่ได้เพิ่งค้นพบจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เท่านั้น แต่ยังเคยถูกเชื่อมโยงไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ในอดีต

ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระหว่างการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดหมู ในสหรัฐฯ (swine flu outbreak) เมื่อปี ค.ศ.1976 รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (2009 H1N1 flu) ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน จากแถลงการณ์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า เคสผู้ป่วยที่พบส่วนมากจะพบในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเป็นต้นไป ซึ่งไม่ได้มากไปกว่าที่คาดไว้ว่าอาจเกิดกับผู้รับวัคซีนเทคโนโลยี mRNA อย่าง ไฟเซอร์ (Pfizer Inc (PFE.N)/BioNTech SE) และ โมเดอร์นา (Moderna Inc. (MRNA.O)) ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลสหภาพยุโรป ได้ออกคำเตือนในลักษณะเดียวกันสำหรับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนก้า ที่ใช้ฐานเทคโนโลยีผลิตเดียวกันกับวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน เมษายน 2564 ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ ได้ระบุไว้ว่า ประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19 นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่ในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ที่มา:
https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/us-announce-new-warning-jj-coronavirus-vaccine-autoimmune-disorder-washington-2021-07-12/
http://www.msdbangkok.go.th/dowload%20file/Personal/Succeed/RN/1151_Saowanee.pdf
https://www.pobpad.com/gbs