ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ออกประกาศหลักเกณฑ์เบิกจ่ายชดเชยค่าบริการรองรับการจัดระบบ “ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน” เริ่ม 28 มิ.ย. ร่วมรับมือ “สถานการณ์โควิด-19 รพ.เตียงเต็ม”


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการเบิกจ่ายกรณีการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home isolation) ในผู้ป่วย COVID-19 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวแทนจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้ง รพ.รัฐและเอกชนเข้าร่วม 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทำให้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสีแดงอาการรุนแรงเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สธ.ได้วางแนวทาง “การดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน” ที่มีการวางระบบติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้จะเริ่มนำร่องเฉพาะที่โรงพยาบาลภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวก่อนในพื้นที่ กทม. เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ประสานผ่านสายด่วน 1668 และยังไม่มีโรงพยาบาลรองรับ และได้รับความยินยอมในการรับบริการจากผู้ป่วย

ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และดุลพินิจของผู้ตรวจราชการเขตและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เนื่องจากบางจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มาก โรงพยาบาลยังสามารถรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามที่ สธ. จัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน สปสช. พร้อมสนับสนุนการจัดบริการของโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยได้จัดทำ “หลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Home isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation)” 

ทั้งนี้ ใช้อัตราการจ่ายประเภทบริการผู้ป่วยในตาม DRG. และจ่ายเพิ่มเติม การดูแลจะครอบคลุมบริการ ดังนี้ 1. การตรวจ RT-PCR. จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600บาท/ครั้ง และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวกับบริการตรวจห้องปฏิบัติการฯ อัตรา 600บาท/ครั้ง และค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจอัตรา 100 บาท/ครั้ง 2. ค่าบริการผู้ป่วยเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน ไม่เกิน 14 วัน

3. ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้ดิจิตอล เครื่องวัด Oxygen Sat ไม่เกิน 1,100 บาท/ราย และค่าอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ ค่าชุด PPE. และค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไม่เกินวันละ 740 บาท/ราย 4. ค่ายารักษาโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย และ 5.ค่ารถส่งต่อ จ่ายตามจริงตามระยะทางและค่าทำความสะอาด 3,700 บาท/ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีค่าบริการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) 100 บาท/ครั้ง เพื่อคัดแยกความรุนแรงโรคและภาวะปอดอักเสบก่อนเข้าสู่ระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน และโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน

“หลักเกณฑ์นี้ครอบคลุมเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา และเพื่อให้ครอบคลุมดูแลประชากรกลุ่มอื่นๆ ด้วย ทั้งผู้ประกันตน คนต่างด้าว เป็นต้น เบื้องต้นยังเป็นการให้บริการเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ โดยในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนอยู่ระหว่างประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อจัดระบบ นอกจากนี้สปสช.ได้หารือทั้งสำนักงานประกันสังคม กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ต่างเห็นชอบในหลักการและรับกลับไป ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สำหรับเอกสาร แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID 19)) ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับเพิ่มเติม) สำหรับการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่