ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยด้านสาธารณสุขชี้ ประเทศร่ำรวยมียอดสั่งจองวัคซีนโควิด 19 เกินความต้องการของประชาชน เสนอกระจายวัคซีนสู่ประเทศยากจนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดให้เร็วที่สุด   

มาเรีย เดอ จีซัส (Maria De Jesus) นักวิจัยด้านสาธารณสุขประจำศูนย์สุขภาพ ความเสี่ยง และสังคม ภาคการบริการนานาชาติ มหาวิทยาลัยอเมริกัน  (American University School of International Service) ได้เผยแพร่บทความในสื่อ The Conversation

เธออ้างอิงการศึกษาทางการแพทย์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าหากโลกนี้ต้องการหยุดโรคระบาดได้นั้น ต้องฉีดวัคซีนให้กับ 70% ของประชากรโลก แต่กลับพบว่ามีเพียงประชากรโลก 10.04% ที่ได้รับวัคซีน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.)

ประชากรที่ได้รับวัคซีนเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศร่ำรวย มีเพียง 0.9% ที่อยู่ในประเทศรายได้น้อย และได้รับวัคซีนเพียงโดสเดียวท่านั้น 

จีซัสวิเคราะห์ข้อมูลการกระจายวัคซีนทั่วโลก พบว่าสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนอันน้อยนิดนี้ มีความสัมพันธ์กับปัญหาในการกระจายวัคซีน โดยประเทศร่ำรวยส่วนมากสั่งจองหรือซื้อวัคซีนเกินความต้องการของประชากร จนไม่มีวัคซีนเหลือให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า

สหรัฐอเมริกาสั่งซื้อวัคซีนมากกว่า 1,200 ล้านโดส หรือเฉลี่ย 3.7 โดสต่อประชากร 1 คน ขณะที่แคนาดาสั่งวัคซีน 381 ล้านโดส เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนครบโดสให้ชาวแคนาดาคนละ 5 รอบ  

ในภาพรวม ประเทศร่ำรวยซึ่งมีประชากรเพียง 1 ใน 7 ของประชากรโลก สั่งวัคซีนมากกว่าครึ่งของวัคซีนที่มีทั้งหมดในเดือน มิ.ย. ทำให้ประเทศที่เหลือไม่สามารถจองวัคซีนได้ ไม่ว่าจะจองผ่านผู้ผลิตโดยตรง หรือผ่านโครงการ COVAX  ภายใต้องค์การอนามัยโลก

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเบนินในแอฟริกาตะวันตก ไม่สามารถจองวัคซีนยี่ห้อใดๆ นอกจากซิโนแวคจากประเทศจีน ซึ่งจองได้เพียง 203,000 โดส หรือเพียงพอสำหรับประชากร 1% ของประเทศเท่านั้น

ขณะที่ประเทศฮอนดูรัสในแถบทวีปอเมริกากลาง สามารถจองวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ 1.4 ล้านโดส ให้กับประชากรเพียง 7% ของประเทศ แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ครบทุกคน  

ส่วนตาฮิติ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ได้รับวัคซีนเพียง 461,500 โดสผ่านการบริจาค  

จีซัสวิเคราะห์ว่าความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีน ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความร่วมมือระหว่างประเทสร่ำรวยกับประเทศอื่นๆ

เธออ้างอิงงานศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northeastern University) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำแบบจำลองแล้วพบว่า หากมีการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จะทำให้ผู้เสียชีวิตจากโควิดทั่วโลกกว่า 61% มีแนวโน้มที่จะยังมีชีวิตอยู่ เทียบกับ 33% ในกรณีที่ประเทศร่ำรวยผูกขาดวัคซีนให้คนในประเทศตนเอง  

นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนยังสามารถลดการเสียชีวิตจากโควิดได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  แม้แต่การกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมภายในประเทศหนึ่งๆ ก็สามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผู้คนได้

ผลลัพธ์ของการเข้าถึงวัคซีนไม่เท่าเทียมกันมีให้เห็นทั่วโลก เช่น ในประเทสแถบละตินอเมริกา ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนมากเป็นชนชั้นอีลิท เช่น ผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจรายใหญ่ หรือคนที่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะบินไปฉีดวัคซีนในประเทศร่ำรวย

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดสังคมคู่ขนาน ที่คนรวยได้รับการปกป้องให้รอดพ้นจากโควิด ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีนก็ต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้าย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คล้ายคลึงกับช่วงเชื้อเอชไอวีระบาดทั่วโลกในทศวรรษที่ 2530 แม้จะมีการพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสได้สำเร็จ แต่มันก็ช่วยชีวิตของผู้คนในประเทศรายได้สูงเป้นส่วนมาก ขณะที่คนยากจนทั่วโลกต้องอยู่กับเชื้อเอชไอวีโดยไม่มียารักษา

ในตอนนั้น บริษัทยาต่างราคายาต้านไวรัสไว้สูงมาก ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 8,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 19,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปัจจุบัน

ภายหลังเกิดขวนการภาคประชาสังคมเรียกร้องความเท่าเทียมในการเข้าถึงยาต้านไวรัส บริษัทยาก็เริ่มบริจาคยาให้ประเทศกำลังพัฒนา ทำให้บริษัทยาในประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตยาเลียนแบบ แล้วขายยาในราคาที่เป็นธรรมให้กับผู้ติดเชื้อในประเทศ ทั้งยังมีการผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสที่มีต้นทุนลดลงจากอดีต

ย้อนกลับมาในตอนนี้ที่โรคโควิด 19 ยังคงระบาดหนัก ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนรวม 1,000 ล้านโดส ให้ประเทศยากจนภายในปี 2565 แต่ก็ยังไม่มีแผนการกระจายวัคซีนที่ชัดเจน

จีซัสเสนอว่า การให้น้ำหนักกับนโยบายการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ควรถูกบรรจุเข้าในวาระระดับโลก ซึ่

ประเทศร่ำรวยต้องทำงานร่วมกับประเทศที่รายได้น้อยกว่า ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและความรู้ในการสร้างฐานการผลิตวัคซีน เพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนให้เร็วที่สุด รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาระบบสุขภาพและจัดซื้อวัคซีน  

การสร้างความร่วมมือนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ยังเป็นผลดีต่อประเทศร่ำรวยด้วยเช่นกัน  เพราะหากประชากรโลกไม่ได้รับวัคซีน โควิดก็จะยังคงระบาดต่อไป พร้อมมีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้น และนั่นจะย้อนกลับไปสร้างผลกระทบให้กับประเทศร่ำรวยในที่สุด  

อ้างอิงhttps://theconversation.com/global-herd-immunity-remains-out-of-reach-because-of-inequitable-vaccine-distribution-99-of-people-in-poor-countries-are-unvaccinated-162040