ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โควิด-19 เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยทั่วโลกมีโอกาสล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลได้ ทว่าในประเทศไทย สภาพการณ์ดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้น

นั่นเพราะ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งนำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ได้ประกาศนโยบายชัดว่า ผู้ป่วยทุกคนจะต้องเข้าถึงการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่ารักษาแต่อย่างใด

แม้ว่าผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน หน่วยบริการก็สามารถมาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ได้ตามเกณฑ์ที่มีการตกลงกันไว้

เพื่อความชัดเจนของนโยบาย และเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์และแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง “The Coverage” ได้พูดคุยกับ “นายอนุทิน” เจ้ากระทรวงหมอ ในฐานะแม่ทัพสุขภาพของประเทศไทย

 

--- ให้แพทย์สั่งตรวจแล้วมาเบิกกับ สปสช. ---

นายอนุทิน เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงกรณีที่ยังพบข้อร้องเรียนจากประชาชน ว่าหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลอยู่ โดยระบุว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิดของโรงพยาบาลในเรื่องกติกาการเบิกจ่าย โดยที่พบมากที่สุดคือเรื่องการเก็บเงินค่าตรวจรักษาจาก “กลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่” หรือในบางกรณีโรงพยาบาลก็บอกว่าผู้ที่มาตรวจไม่ได้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง จึงมีการเก็บค่ารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี กติกาที่ถูกต้องคือ หากโรงพยาบาลหรือแพทย์เป็นผู้สั่งตรวจ หรือลงความเห็นว่าบุคคลนั้นๆ จำเป็นต้องตรวจ ตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง โรงพยาบาลก็สามารถเบิกค่าตรวจจาก สปสช. ได้ทันที

“จากข้อมูลของ สปสช. พบว่านี่เป็นประเด็นที่มีความเข้าใจผิดอยู่มาก มีการร้องเรียนเข้ามากเกือบ 2,000 ราย ซึ่งเราก็พยายามสื่อสารกับโรงพยาบาลว่าท่านไม่ต้องเก็บเงินจากประชาชนนะ เมื่อใดที่แพทย์ใช้ดุลพินิจแล้วสั่งให้ตรวจ ท่านสามารถมาเก็บเงินจาก สปสช.ได้เลย ฉะนั้นก็ให้คืนเงินแก่ประชาชนแล้วมาเก็บจาก สปสช.แทน โดยหลักการก็คือโรงพยาบาลไม่ต้องเสียอะไร”

นายอนุทิน บอกว่า จริงๆ หากไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจอยู่แล้ว ซึ่งแพทย์จะเป็นคนที่จะช่วยประชาชนด้วยการวินิจฉัยและใช้ดุลพินิจ อย่างกรณีที่ประชาชนไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคอื่นๆ แต่โรงพยาบาลบอกว่าให้ไปตรวจโควิด-19 ก่อน ตรงนี้ต้องคืนเงินให้ประชาชน เพราะโรงพยาบาลสามารถสั่งตรวจแล้วมาเบิกกับ สปสช.ได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ที่พบมากอีกกรณีก็คือโรงงานขอให้ตรวจก่อนเข้าทำงาน เรื่องนี้แพทย์ก็ควรแนะนำว่าไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ใดๆ เลย ฉะนั้นควรประสานกับโรงงานว่ากติกาแบบนี้ใช้ไม่ได้ และไม่ควรใช้ เพราะจะทำให้คนในโรงงานแตกตื่นแล้วมาตรวจ ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของแพทย์ที่อยู่หน้างานแล้ว ยังไม่ได้ประโยชน์ในทางป้องกันการระบาดใดๆ เลย ดังนั้นเราต้องขอว่าให้ใช้กติกาทางการแพทย์เป็นหลัก

 

--- ห้าม รพ.เก็บเงินส่วนต่างจากผู้ป่วย ---

ที่ผ่านมายังพบข้อร้องเรียนว่าโรงพยาบาลมีการขอเก็บ “เงินมัดจำ” ก่อนการรักษา ในประเด็นนี้ “นายอนุทิน” ยืนยันชัดเจนว่า ทำไม่ได้

นายอนุทิน อธิบายว่า ในอดีตอาจมีบ้างที่ สปสช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจ่ายเงินช้าหรือมีขั้นตอนยุ่งยากในการเบิกจ่าย นั่นทำให้โรงพยาบาลต้องไปเก็บเงินมัดจำจากผู้ป่วยไว้ก่อน แต่ปัจจุบันได้สั่งการให้ สปสช. ปรับระบบเพื่อให้จ่ายเงินแก่โรงพยาบาลให้เร็วขึ้น หรือเรื่องเอกสารที่เอามาเบิกเงิน ก็พยายามปรับให้ใช้เอกสารเท่าที่จำเป็นในการพิสูจน์ได้ว่าโรงพยาบาลไม่เอาคนอื่นมาเบิกเงินแทน คือสร้างระบบตรวจสอบที่รัดกุม มีประสิทธิภาพ และง่ายขึ้น

“มากไปกว่านั้น ผมยังได้สั่งการให้ สปสช.เปิดสายด่วนเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลที่มีข้อติดขัดในการเบิกจ่าย ดังนั้น ณ ขณะนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องไปเรียกเก็บล่วงหน้าจากประชาชนเอาไว้ก่อน”

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า อัตราการเบิกจ่ายที่ สปสช. ใช้อยู่นี้ ทุกอย่างตั้งต้นมากจากข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชนในนามของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ สปสช. หรือ บอร์ด สปสช.เป็นผู้กำหนดเอง โดยมีรายละเอียดครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากกว่า 4,800 รายการ

“รายการอะไร ราคาเท่าไหร่ มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาหมด ดังนั้นโรงพยาบาลก็จะต้องเบิกกับ สปสช. ในรายการนั้นๆ ตามราคาที่กำหนด

“สมมติรายการที่ตกลงร่วมกันไว้คือ 5,000 บาท โรงพยาบาลจะบอกกับประชาชนว่าค่ารักษา 7,000 บาท โดยมาเบิกกับ สปสช. 5,000 บาท และไปเรียกเก็บส่วนต่างจากประชาชนอีก 2,000 บาท ไม่ได้ ตรงนี้ทำไม่ได้ เพราะเราตกลงกันไว้แล้วว่า 5,000 บาท ฉะนั้นก็ต้องขอให้โรงพยาบาลคืนเงินส่วนต่างทุกอย่างให้ประชาชน

“หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียู ตรงนี้โรงพยาบาลก็ต้องมีพยาบาลดูแลตามมาตรฐานอยู่แล้ว จะมาเรียกเก็บค่าพยาบาลพิเศษจากประชาชนไม่ได้ โดยสรุปก็คือ เรากำหนดค่าบริการไว้ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจ การรักษา ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ป้องกัน ค่าห้อง Hospitel ฉะนั้นนโยบายของผมคือ สปสช.จะเป็นผู้จ่ายให้ทั้งหมด”

รมว.สธ. กล่าวว่า ในส่วนของค่าห้องจำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม คือจะมาบอกว่าโรงแรมที่นำมาทำ Hospitel มีหลายเกรดไม่ได้ เพราะ Hospitel ไม่ใช่ Hotel โดย Hotel อาจมีตั้งแต่ 3 ถึง 5 ดาว แต่ Hospitel ทำแบบนั้นไม่ได้ เราเพียงแค่ใช้โรงแรมเหมือนเป็นโรงพยาบาล ไม่ได้ใช้โรงแรมตามศักยภาพของดาวได้ จะออกไปใช้สระว่ายน้ำใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ ไปฟิตเนสก็ไม่ได้ อาหารก็เป็นอาหารพื้นฐานที่โรงพยาบาลจะจัดให้คนไข้ จะให้พนักงานเข็นเข้ามาส่งในห้องก็ไม่ได้ มันไม่เหมือนการปฏิบัติที่เป็นโรงแรม

“เราเพียงแต่แปลงโรงแรมให้เป็นเหมือนโรงพยาบาล มันเป็นการใช้พื้นที่ของห้องเท่านั้น เราไม่ได้ดูที่ดาวแต่ดูความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้นราคาจึงเป็นราคาเดียวตามที่มีการตกลงกันไว้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นโรงแรมหลายดาวแล้วจะขอเก็บเงินเพิ่ม” นายอนุทิน พูดชัด

 

--- ฟรีทุกกระบวนการ ถ้ารักษาตามระบบ ---

แน่นอนว่าในการรักษาพยาบาล อาจจะมีรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในการตกลงร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชน กับ สปสช. ซึ่งประเด็นนี้ได้สั่งการเป็นนโยบายไปทางอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแล้วว่า ให้ดูว่ามีรายการใดบ้าง แล้วจากนั้นให้ค่อยๆ ขยายรายการเพิ่มเติม ซึ่งปีที่ผ่านมามีการขยายมาแล้ว 3 รอบ จาก 3,000 รายการ ทุกวันนี้ก็ครอบคลุมถึง 4,800 รายการ

“ขอย้ำว่าไม่จำเป็นต้องไปเก็บเงินจากประชาชน เพราะเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติขยายรายการให้แล้ว สปสช.ก็มีหน้าที่เอาเงินไปจ่ายคืนย้อนหลังให้ ประเด็นนี้รวมถึงโรคร่วมที่สืบเนื่องจากโควิด-19 ด้วย

กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับนโยบายเรื่องรักษาโควิดฟรี คือประชาชนไม่ต้องจ่ายทุกกรณี เว้นแต่ 1. ไปคัดกรองเองโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ช่องทาง Drive Thru แบบนี้ต้องจ่ายเอง 2. ประชาชนไม่รับการรักษาตามขั้นตอนที่โรงพยาบาลจัดให้ เช่น โรงพยาบาลจะส่งไปโรงพยาบาลสนาม แต่ตัวผู้ป่วยไม่อยากไป อยากจะนอนห้องพิเศษสบายๆ แบบนี้ถือว่าเลือกรับบริการ แบบนี้ต้องจ่ายเองทั้งหมด

“หากผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่กล้าไปตรวจรักษาเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จะยิ่งทำให้การควบคุมป้องกันโรคยากขึ้น ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือโรงพยาบาลงดการเรียกเก็บเงินไปเลย ส่งรายการค่าใช้จ่ายไปให้ สปสช. ซึ่งขณะนี้ทางอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ทำหนังสือเวียนแจ้งโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว”

นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด ตามมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน โดยรัฐบาลได้จัดหามาให้บริการฟรี และเพื่อความมั่นใจ ทางบอร์ด สปสช. ก็ได้ออกประกาศเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้วย แม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำมากๆ แต่รัฐบาลก็ต้องการให้ความมั่นใจว่าทุกคนจะต้องได้รับการดูแลและได้รับความปลอดภัย