ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ คลอง 12 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานท้องถิ่น ที่ดึงเอากลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) มาร่วมบูรณาการกับเขตพื้นที่ ในการร่วมกันหยุดวิกฤติการณ์ระบาดในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บนพื้นที่รับผิดชอบกว่า 38.40 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ ต.บึงน้ำรักษ์ และ ต.บึงสนั่น มีประชากรกว่า 31,978 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 58 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 110 ราย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ยังสามารถควบคุมได้ หากแต่เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ก็ยัง “ยกการ์ดสูง” ด้วยการวางแผนการใช้เงินในกองทุนฯ เพื่อควบคุมและป้องกันโรค

เงินในกองทุนดังกล่าว เป็นเงินที่มาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 1,213,020 บาท เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์สมทบอีก จำนวน 606,510 บาท และยังมีทางภาคเอกชนที่เข้ามาผนวกกำลังช่วยเหลือในช่วงวิกฤตินี้อีกด้วย

นอกจากเม็ดเงินที่มีอยู่ในพื้นที่แล้ว สปสช.ยังได้ประกาศหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ฉบับที่ 3 โดยมีสาระสำคัญคือ เพื่อความยืดหยุ่นให้ท้องถิ่นสามารถใช้งบปะมาณได้อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่

นั่นทำให้ กปท. กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการสนับสนุนงานระดับท้องถิ่น ที่เท่าทันต่อสถานการณ์

“The Coverage” มีโอกาสได้ลงพื้นที่เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ เพื่อพูดคุยถึงการดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลประชาชนในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตลอดจนการใช้ กปท. ในการควบคุมและป้องกันโรค

นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ คลอง 12 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตนเองนั้นเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเริ่มระบาดระลอกที่ 3 จึงได้มีโอกาสนำเงินในส่วนของกองทุน กปท. เพื่อใช้จัดซื้อ-จัดหาหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ ชุดป้องกัน (PPE) สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ รวมไปถึงการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จิตอาสา เสียงตามสาย

นอกจากนี้ ทางภาคีเครือข่ายในชุมชนยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรการระดับพื้นที่ เช่น ออกตรวจประเมิน และสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคชั่วคราว เช่น ตลาดนัด ศาสนสถาน โดยจะมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างประธานแต่ละชุมชน อสม. ผู้ประกอบการ สถานศึกษา และภาคีเครือข่ายชุมชนอยู่เป็นระยะ 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ทางเทศบาลฯ ยังได้ร่วมกับสถานีอนามัยสมเด็จย่า 84 ต.บึงน้ำรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) รวมไปถึงการสนับสนุนกำลังคน และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรู้จักการป้องกันโควิด-19 และยังเน้นไปที่เรื่องของการฉีดวัคซีนอีกด้วย

“ผมได้พูดคุยกับทาง รพ.สต. ร่วมกับ อสม. ในการออกสำรวจ เพื่อที่จะให้ชาวบ้านที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือชาวบ้านที่ไม่สามารถโหลดแอพพลิเคชันหมอพร้อมได้ โดยจะให้ชาวบ้านลงทะเบียนผ่านระบบเมนนวล และนำมารวบรวมให้กับทาง รพ.สต. เพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบส่วนกลาง” นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ กล่าว

นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเงินกองทุนตำบล ของ สปสช. มาช่วยป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งได้นำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยมีการใช้เงินจากกองทุนตำบลมาใช้ช่วยเหลือเรื่องอาหารของสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน และยังทำให้สามารถควบคุมโรคได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเงินกองทุนตำบลมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมโรค กักตัว คัดกรอง หรือการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ซึ่งในภาพรวมคิดว่าตรงนี้นั้นจะสามารถใช้เงินจากกองทุนได้อย่างครอบคลุม และช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จุดเด่นของเทศบาลสนั่นรักษ์ ก็ต้องชื่นชมทางผู้นำ ตั้งแต่นายกฯ สาธารณสุขอำเภอ ผอ.รพ.สต รวมไปถึงแกนนำในแต่ละชุมชน ที่เห็นความสำคัญและเห็นปัญหาร่วมกัน ว่าปัญหาเป็นของคนในพื้นที่ ถ้าคนในพื้นที่ไม่จับมือกัน ปัญหาก็จะไม่สามารถแก้ได้ ถ้าสามารถจัดการตรงนี้ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 นั้นจะดีขึ้น และทำให้การควบคุมป้องกันโรคนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจหลัก

“ถ้าสามารถระดมทรัพยากรได้นอกเหนือจากเงินกองทุน อย่างเช่นที่เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ก็จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน รวมไปถึงคนในชุมชนที่เข้ามาช่วยดูแลกัน อันนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้ความสำเร็จของการควบคุมโควิด-19 นั้นค่อนข้างดี” นพ.จักรกริช กล่าว

นพ.จักรกริช กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก ก็ได้มีการปรับระเบียบเพื่อให้ทางท้องถิ่นสามารถใช้เงินได้คล่องขึ้น ถูกต้องตามระเบียบ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งเบื้องต้นก็มีการแก้ไขระเบียบ เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมอบอำนาจให้กับเป็นผู้อนุมัติ

“ทางเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ได้มีการจัดสรรงบประมาณจากงบ กปท. เพื่อใช้ในการดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของกองทุนที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน จากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนในสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสำคัญ” รองเลขาธิการ สปสช. ระบุ