ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุ เจตนา ม.41 กำหนดเพดานชดเชยผลกระทบวัคซีนไม่เกิน 4 แสน เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องกับศาลได้เป็นกรณี


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การรับเงินชดเชยกรณีได้รับเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำนวนไม่เกิน 4 แสนบาทนั้น เป็นไปตามหลักการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งไม่ได้ตัดสิทธิ์ผู้ได้รับผลกระทบไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมต่อศาลในภายหลัง

“ถ้าเราไม่พอใจวงเงินเยียวยา 4 แสนบาท ก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลได้ แต่การอุทธรณ์นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เพิ่มเสมอไป เพราะเกณฑ์ในประกาศกำหนดเพดานสูงสุดไว้แค่ 4 แสนบาท ฉะนั้นหากต้องการเงินช่วยเหลือหรือเยียวยามากขึ้น ก็ต้องเป็นเรื่องของศาลพิจารณา” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า กรณีเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 41 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเกณฑ์ออกมานั้น หลักการสำคัญคือการให้ช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงที ซึ่งจะพิจารณาตามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในกรณีการเสียชีวิตจะมีการดูเพิ่มเติมด้วยว่าผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นคนสำคัญที่ดูแลครอบครัวหรือไม่ ซึ่งทายาทก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาที่สมควรแก่เหตุ โดยจะต้องดูเป็นรายกรณีไป

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า โดยเจตนาของการจ่ายชดเชยเยียวยาเบื้องต้น คือต้องการให้ความมั่นใจแก่ประชาชนในเรื่องของการรับวัคซีน เนื่องจากคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกวัคซีนมาแล้วว่ามีความปลอดภัย และเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงคืออาจมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ หรือร้ายแรงได้ แต่ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย แต่หากเกิดผลข้างเคียงขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็มั่นใจได้ว่าบอร์ด สปสช. พร้อมที่จะช่วยกันปกป้องผู้ได้รับความเสียหาย

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีการผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ก็อาจทำให้ได้รับเงินเยียวยาเพิ่มขึ้นได้ เพราะใน พ.ร.บ. คุ้มครองฯ ไม่ได้ใช้คำว่าการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่จะมีการพิจารณาถึงความเสียหายลงไปในรายละเอียดมากกว่า ซึ่งเป็นคนละเจตนากับ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

“แต่ถึงแม้จะไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองฯ ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกันอยู่ เช่น การรับผิดทางแพ่งของผู้ให้บริการ หรือความปลอดภัยของข้อมูลสินค้า ซึ่งก็มี พ.ร.บ. หลายตัวที่ดูแลอยู่ตอนนี้” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ถ้ามี พ.ร.บ. คุ้มครองฯ ส่วนตัวเชื่อว่าจะสามารถดูแลได้ในทุกกรณีที่เกิดความเสียหาย เพียงแต่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 นี้ ก็จะต้องยิ่งให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทุกตัวนั้นปลอดภัยพอ ถ้าเทียบเคียงกับความคุ้มค่า ที่จะสามารถลดอัตราการระบาด หรือลดอัตราการเสียชีวิตได้ 

“โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้กลไกและกระบวนการจัดสรรวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพ และเพียงพอ ซึ่งประเทศไทยต้องสนับสนุนวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถคิดค้นและผลิตภายในประเทศด้วย เพราะโควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกนาน ฉะนั้นแล้วรัฐจะต้องสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นและผลิตวัคซีนที่มากกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ (Siambioscience) เพื่อที่ประเทศจะได้มีทางเลือก และประชาชนก็จะมีทางเลือกในการรับวัคซีนมากขึ้น” นายนิมิตร์ กล่าว